พิพิธบางลำพู: ชุมชนร่วมสร้าง ธนารักษ์ร่วมสรรค์
พิพิธบางลำพู: ชุมชนร่วมสร้าง ธนารักษ์ร่วมสรรค์
18/2/2559 / 14 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา

ถิ่นฐาน ย่านเก่า
     ย่านบางลำพู เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีเรื่องราวมากมาย ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ รากเหง้าทางวัฒนธรรมสำคัญๆ ที่เล่าขานมาอย่างน่าสนใจ ด้วยความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นย่านเศรษฐกิจ แหล่งความบันเทิงอันเฟื่องฟูในอดีต เป็นแหล่งที่มีงานช่างฝีมืออันประณีตงดงามทั้งเครื่องทอง เครื่องถม และยังเป็นย่านตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ปัจจุบันย่านบางลำพู มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม โดยเห็นได้จากการคมนาคมที่สะดวกขึ้น การค้าที่ขยายตัว และการเข้ามาของธุรกิจนำเที่ยว ทำให้ย่านบางลำพูกลายเป็นศูนย์รวมของธุรกิจการท่องเที่ยว ที่คึกคักและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะบนถนนข้าวสารที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวแบบแบกเป้ (Backpacker) ที่ตอบสนองนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งต้องการที่พักอาศัยในราคาย่อมเยา และยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งในย่านบางลำพู

 

พพธ 2 

 

     โรงพิมพ์คุรุสภา เป็นสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ในย่านบางลำพูมานานกว่า ๘๐ ปี โดยตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู ถนนพระสุเมรุ แขวงวัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นบ้านของพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณ มหาไชย) ต่อมาได้ตกเป็นที่ราชพัสดุ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอใช้เป็นที่เก็บหนังสือ บัญชีและสิ่งของจากห้างเยอรมันและออสเตรีย ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการได้ขอใช้เป็นร้านกลางสำหรับจำหน่ายแบบเรียน จึงมีการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิม โดยปรับปรุงอาคารด้านริมถนนพระสุเมรุ เป็นโรงพิมพ์ชั้นเดียว ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๖๗ อาคารเกิดชำรุด และได้ปรับปรุงเรือนไม้ริมคลองเพื่อใช้เป็นที่เก็บกระดาษ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดดำเนินการเป็นโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช โดยสร้างอาคารด้านหน้าติดกับถนนพระสุเมรุเป็นอาคารคอนกรีตรูปตัวแอล ( L ) ก่ออิฐถือปูนสองชั้นเป็นอาคารแบบบาวเฮาส์ (International Style) ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกยุคแรกๆ ออกแบบโดยเน้นรูปทรงเรขาคณิต ตัดลวดลายรุงรังออก เน้นความเรียบง่าย แต่งดงาม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จำนวนนักเรียนได้ลดลงมาก โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชจึงต้องปิดตัวลง และได้เปลี่ยนมาเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา สำหรับพิมพ์ตำราและหนังสือวรรณคดีเอกของชาติ ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และได้ย้ายโรงพิมพ์ไปอยู่ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว อาคารโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่นั้นมา

 

พพธ 3

 

 

สองข้าง ต่างคิด
    จนในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๓ ได้มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสร้างสวนสาธารณะริมป้อม พระสุเมรุ ตามแผนพัฒนาเชิงอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ ของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติให้รื้อถอนอาคารไม้บางส่วน แต่ชาวชุมชนบางลำพูเห็นว่า อาคารแห่งนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นอาคารไม้โบราณขนาดใหญ่ที่มีประวัติการก่อสร้างที่ชัดเจนและใช้ประโยชน์ด้านการพิมพ์หนังสือของประเทศมาเป็นเวลานาน ควรที่จะปรับปรุงและอนุรักษ์อาคารและพื้นที่แห่งนี้ไว้ และแสดง ความประสงค์จะใช้สถานที่ให้เกิดประโยชน์มากกว่าการรื้อทิ้งเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างสวนสาธารณะ จึงได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านการรื้ออาคารที่เหลืออยู่ จนเกิดการรวมตัวเป็น "ประชาคมบางลำพู” โดยเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ตัวแทนของประชาคมบางลำพู นำโดย ศาสตราจารย์ คุณหญิงเต็มสิริ บุญยสิงห์ และคณะกรรมการประชาคม และสถาปนิกอิสระ รวม ๘ ท่าน ได้เข้าพบและขอเจรจากับอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อเสนอแผนการบูรณะและบริหารจัดการโรงพิมพ์คุรุสภาให้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม นันทนาการ และห้องสมุดชุมชนตามที่ได้ตกลงกันไว้ในการเจราจาโดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ผลการเจรจาครั้งนี้อยู่ในรูปแบบการประนีประนอม และได้มีการเจรจาอีกครั้งในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๒ ซึ่งมีความเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องการรื้อถอนอาคารในส่วนกลางที่อยู่ใกล้ทางเข้า – ออก ซึ่งสอดคล้องกันตามแผนของประชาคมบางลำพู และทางประชาคมบางลำพูได้เสนอว่า การรื้อถอนจะต้องอยู่ภายใต้การจัดทำแผนผังที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และต้องได้รับการยินยอมจากกรมศิลปากร ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้ส่งหนังสือเลขที่ ศธ ๐๗๐๘/๒๐๘๘ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ เรื่องขอคัดค้านโครงการรื้ออาคารโบราณสถาน ซึ่งมีเนื้อความโดยสรุปว่า อาคารโรงพิมพ์คุรุสภาเป็นอาคารที่มีประวัติความเป็นมาที่ชัดเจน มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นตัวแทนของอาคารในยุคหนึ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมมีความเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน อาคารแห่งนี้ถือว่าเป็นโบราณสถาน แม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานก็ถือว่าได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๓๕)  นอกจากนี้การคัดค้านดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย สมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน รวมทั้งกลุ่มนักวิชาการ 

แนวทาง ความหวัง
    ผลจากการเห็นคุณค่าและความพยายามผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์โรงพิมพ์เก่าแก่ของชาวบางลำพู ประกอบกับกรมธนารักษ์ได้ดำเนินงานโดยยึดพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการมุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้เกิดความผาสุก ความเป็นอยู่ที่ดีความสงบและปลอดภัยของสังคมส่วนรวม ตลอดจนประโยชน์สูงสุดของประเทศ กรมธนารักษ์จึงเปิดโอกาสให้ ชาวบางลำพูได้มีโอกาสเข้าร่วมรับรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมแสดงทัศนะร่วมคิดแนวทาง ร่วมแก้ปัญหา และร่วม ตัดสินใจในการปรับปรุงอาคารเก่าแก่หลังนี้ นับเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบางลำพูกับกรมธนารักษ์ ซึ่งทุกภาคส่วนมีความหวังว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ของชุมชน อันเป็นประโยชน์ของชุมชนต่อไป
    จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๕ กรมธนารักษ์ได้มีมติให้บูรณะซ่อมแซมอาคารที่ปลูกสร้างในที่ดินราชพัสดุแปลง โรงพิมพ์คุรุสภา ซี่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ แห่งนี้ โดยใช้แนวความคิดการพัฒนาเชิงอนุรักษ์โบราณสถาน (Heritage Development) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่กรมธนารักษ์ได้ใช้ในการพัฒนาที่ราชพัสดุ โดยการพัฒนาปรับปรุงอาคารเดิมและพื้นที่ชุมชนให้มีความสวยงาม โดดเด่น บูรณะและตกแต่งรูปแบบของอาคารให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น เป็นสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า อันมีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนบางลำพูเป็นแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน โดยจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชนภายใต้ชื่อ "พิพิธบางลำพู” และมอบให้สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินมีหน้าที่ในการดูแลบริหารจัดการ "พิพิธบางลำพู” เพื่อเป็นต้นแบบของการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ และชุมชนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิด ประสบการณ์ และพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน

รวมใจ สร้างสรรค์
     ในระหว่างที่มีการปรับปรุงอาคารโรงพิมพ์คุรุสภานั้น กรมธนารักษ์ได้ทำการสำรวจความเห็นของ ชาวบางลำพูเพื่อนำมาร่วมพิจารณาวางรูปแบบการจัดแสดง โดยกำหนดให้พิพิธบางลำพูเป็นศูนย์การเรียนรู้ของกรมธนารักษ์ จัดแสดงภารกิจหลักทั้ง ๕ ด้าน คือ ด้านบริหารที่ราชพัสดุ ด้านผลิตเหรียญกษาปณ์และของสั่งจ้าง ด้านบริหารเงินตรา ด้านทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และด้านประเมินราคาทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สมัยใหม่ซึ่งประยุกต์การแสดงวัตถุและการเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์เข้ากับการแสดงวิถีชุมชนบางลำพู อย่างน่าสนใจ โดยส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากฐานข้อมูลชุมชน ซึ่งชาวบางลำพูได้เคยทำวิจัยทางประวัติศาสตร์ เรื่อง "ผู้ใหญ่เล่า เยาวชนเขียน” มาก่อน นอกจากนี้แล้ว ชาวชุมชนบางลำพู ประชาคมบางลำพู และปราชญ์ชุมชนประมาณ ๓๐ คน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลพื้นฐาน ตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของข้อมูลที่ใช้ในการจัดแสดง

 

พพธ2

 

ชาวชุมชนบางลำพูยังได้มีส่วนร่วมในการจัดการแสดงภายในพิพิธบางลำพู โดยการมอบวัตถุสำหรับจัดแสดงต่าง ๆ อันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เป็นของสะสม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบางลำพู วัตถุจัดแสดงที่ชาวบางลำพูได้มอบให้กรมธนารักษ์นำมาจัดแสดงในอาคารพิพิธบางลำพูได้แก่

 

 

พพธ3 2

 

พพธ3 3

 

 

พพธ4 2

 

พพธ4 3

 

พพธ5 2

 

 

นอกจากนี้แล้ว ชาวบางลำพูได้อัญเชิญ "พระพุทธบางลำพูประชานาถ” อันมีนามหมายถึง "ที่พึ่งของชาวบางลำพู” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระอุระเบื้องซ้าย และประทานให้เป็นพระพุทธรูปประจำชุมชนบางลำพู มาประดิษฐานไว้ที่พิพิธบางลำพูอย่างถาวร

 

พพธ5 3

 

   การที่ชาวบางลำพูได้อัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถมาประดิษฐานยังพิพิธบางลำพู และได้มอบวัตถุจัดแสดงให้กับพิพิธบางลำพูเป็นผู้ดูแลนั้น นับได้ว่าเป็นเกียรติของกรมธนารักษ์ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบางลำพูให้ดูแลรักษาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และวัตถุอันมีคุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชน 

ร่วมกัน สร้างงาน

  พิพิธบางลำพูได้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๗  ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้เข้าชมชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากพิพิธบางลำพูเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ห้องสมุดชุมชน ศูนย์กลางของชุมชน แล้วยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์แก่ชุมชน กรมธนารักษ์ยังได้สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาคม ต่างๆ ในการจัดกิจกรรมในพิพิธบางลำพูมาอย่างต่อเนื่อง เช่น งานเสวนา "เสน่ห์บางลำพู ธนารักษ์คู่ชุมชน” "พิพิธบางลำพู Night at the museum” "ธนารักษ์ย้อนวันวาน พิมานสนานพิพิธบางลำพู” "เทศกาลริมน้ำบางกอก” การจัดกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้กรมธนารักษ์ได้รับความร่วมมือ การสนับสนุนจากชาวบางลำพูเป็นอย่างดีเสมอมา 

 

พพธ5 4

 

นอกจากนี้แล้วชาวบางลำพู ประชาคมบางลำพู และชมรมเกสรลำพู ยังได้กันร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนบางลำพู กิจกรรมไกด์เด็กบางลำพู การสาธิต การถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมการเสวนา โดยใช้พิพิธบางลำพูเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรม ซึ่งทำให้พิพิธบางลำพูเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต มีสีสัน และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้มีการเผยแพร่เรื่องราวของพิพิธบางลำพูและวิถีชีวิตชาวบางลำพูผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น รายการโทรศัพท์ หนังสือ แผ่นพับ Facebook  Youtube channel 

 

 6 2

 

พิพิธบางลำพู เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะอนุรักษ์พื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ประกอบกับกรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงพื้นที่ราชพัสดุที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชน และสังคม พิพิธบางลำพูจึงเป็นหลักฐานของการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของทุกคนในสังคมไทย ชาวบางลำพูเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน และเผยแพร่ให้ผู้เข้าชมชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ทราบบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ควบคู่กับอัตลักษณ์ของชุมชน 

                                                                                                           กลอน

*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์เหรียญ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน  กรมธนารักษ์

แพรวพรรณ แย้มไทย, กระบวนการเกิดประชาคมและผลกระทบต่อชุมชนบางลำพู ศึกษาจากกรณี : โรงพิมพ์คุรุสภาเก่า, วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔, หน้า ๖๙.

อาคารโรงพิมพ์ครุสภาได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ จากกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓   

สัมภาษณ์นางสาวปานทิพย์ ลิกขะไชย ผู้รับผิดชอบโครงการเสน่ห์บางลำพู วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๐  

สัมภาษณ์นางสาวสุพิน  หนองบัว สมาชิกชมรมเกสรลำพู วันที่ ๒๗ กันยายน  ๒๕๖๐

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

แพรวพรรณ แย้มไทย. กระบวนการเกิดประชาคมและผลกระทบต่อชุมชนบางลำพู ศึกษาจากกรณี : โรงพิมพ์คุรุสภาเก่า.วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๔๔.

ปานทิพย์ ลิกขะไชย (สัมภาษณ์) ผู้รับผิดชอบโครงการเสน่ห์บางลำพู วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๐

วรรณรัตน์ ไม้สุวงศ์ และคณะ. การวิจัยประเมินผล: ชมรมเกสรลำพู. รายงานรายวิชาการวิจัยประเมินผลโครงการ สว๓๑๔ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๕๘.

วิมลสิริ เหมทานนท์ . การมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว: ศึกษากรณีชุมชนย่านบางลำพู. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2546.

สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์. พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์. กรุงเทพฯ: สันติศิริการพิมพ์. ๒๕๕๘.

สุพิน  หนองบัว (สัมภาษณ์) สมาชิกชมรมเกสรลำพู วันที่ ๒๗ กันยายน  ๒๕๖๐

Related articles line
Bang Lamphu
22/5/2561 / 82
BANGLAMPHU destrict has a history of life, sacred food , shopping areas and major tourist attractions. Eventhough the good old days in our area is threat by the approaching of the development of econom..
Phra Sumane Fort
21/5/2561 / 80
In the beginning of Rattanakosin period, 14 forts were built at that time of the purpose of providing the defense from foreign invasions. Nowadays there are only 2 forts remained: Mahakarn Fort and Phr..
Bawon Rangsri Community
14/5/2561 / 58
The communtiy began the first ever profes-sionin the art of gole beater but it is still continued by 'Ban Changthong' who strivse to keep this profression alive for later generation.