พิพิธบางลำพู: แหล่งเรียนรู้
พิพิธบางลำพู: แหล่งเรียนรู้
1/5/2560 / 8 / สร้างโดย Web Admin

ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน บุคคล หรือแม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ต่างก็ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate social responsibility) หรือ CSRนับเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมและได้รับความสนใจจากทั่วโลก กระแสสำนึกดังกล่าวส่งผลให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างให้ความสำคัญ และมีการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือแก้ไข ในประเด็นปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกระแสของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย มีการรณรงค์และส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และศูนย์การเรียนรู้ในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งสาระเชิงบันเทิง รวมทั้งสถานที่สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ที่คล้ายคลึงกัน คือ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นสถานที่ที่มีบทบาท และทำประโยชน์ให้แก่คนในสังคม

กรมธนารักษ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและปรับปรุงอาคารที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันสอดคล้องกับพันธกิจในด้านการบริหารจัดการที่ราชพัสดุให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชนภายใต้ชื่อ "พิพิธบางลำพู”

พิพิธบางลำพูตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางลำพู ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ เดิมเป็นที่ตั้งของบ้านของพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณ มหาไชย) อธิบดีกรมคลัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้ตกเป็นที่ราชพัสดุในปี พ.ศ.๒๔๖๗ และมีหน่วยงานราชการ เข้ามาปรับปรุงและใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง

พ1.2

อาคารโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวล (เดิม)


ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ใช้เป็นโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งเป็นโรงเรียนการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชได้ปิดตัวลง และได้เปลี่ยนมาเป็น โรงพิมพ์คุรุสภา สำหรับพิมพ์ตำราและหนังสือวรรณคดีเอกของชาติ ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และได้ย้ายโรงพิมพ์ไปอยู่ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว อาคารโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่นั้นมา จนเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ กรมศิลปากรได้ประกาศให้อาคารโรงพิมพ์คุรุสภาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ กรมธนารักษ์ จึงได้ปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชน

 

พ1.3

ภายหลังการปรับปรุงอาคารปูนและอาคารเรียนไม้

ให้เป็นสถานที่จัดแสดงภารกิจของกรมธนารักษ์ และประวัติศาสตร์ชุมชนบางลำพู


พิพิธบางลำพู: ศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชุมชน

กรมธนารักษ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชุมชนบางลำพู ซึ่งตั้งอยู่ ณ พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ เต็มไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่น่าสนใจ จึงได้อนุรักษ์อาคาร เก่าไว้เป็นหลักฐานทางสถาปัตยกรรมโบราณ และดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างความร่มรื่นและสบายตา พร้อมทั้งได้นำเสนอวิถีชีวิตของชาวบางลำพูที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบไปด้วยย่านการค้าและชุมชนเก่าแก่ที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้บางลำพูกลายเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและน่าสนใจ


ในปัจจุบันย่านบางลำพูเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาจำนวนมาก กรมธนารักษ์และชาวชุมชนบางลำพู จึงได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและปกป้องพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชุมชนนี้ไว้ จึงเกิดเป็น "นิทรรศการชุมชนบางลำพู” ที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชน ๗ ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านพานถม ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ชุมชนวัดใหม่อมตรส ชุมชนบวรรังษี ชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม ชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์ – ตรอกไก่แจ้ และชุมชนวัดสามพระยา เพื่อเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ชุมชน และคนรุ่นใหม่ ร่วมอนุรักษ์ และหวงแหนศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ไว้ ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา


นอกจากนี้กรมธนารักษ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเรียนรู้ จึงได้จัดทำห้องสมุดชุมชน โดยรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บางลำพูและหนังสืออื่น ๆ ไว้มากมาย เพื่อให้บริการแก่เด็ก และเยาวชน ในชุมชน หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้ามาแสวงหาความรู้เพิ่มเติม และใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สาธารณะ ในการจัดกิจกรรมของเด็ก ๆ ในชุมชน กิจกรรมอบรม เสวานาทางวิชาการ หรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่าง ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม

 

พ2.1

ชั้น ๒ ของอาคารไม้ จัดแสดงนิทรรศการชุมชนบางลำพู

พ2.2

ห้องสมุดชุน พื้นที่สาธารณธสำหรับแสวงหาความรู้และจัดกิจกรรมต่างๆ


พิพิธบางลำพู: แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของทุกคนในสังคม

พิพิธบางลำพู มีแนวคิดในการปรับปรุงตัวอาคารและการออกแบบพื้นที่ภายใต้หลักการอารยสถาปัตย์ (Universal Design)๒เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าชมได้ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสื่อปฏิสัมพันธ์ (Interactive Media) มาสร้างสรรค์นิทรรศการให้มีความน่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน

พ2.3

การออกแบบทางลาดและราวจับ บริเวณด้านหน้าอาคารและทางเชื่อมต่ออาคารเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้รถเข็น ผู้สูงอายุ และเด็ก

พ3.1

การออกแบบพื้นที่ห้องจัดแสดงนิทรรศการให้กว้างขวางเพียงพอสำหรับผู้ใช้รถเข็น และไม่มีสิ่งกีดขวางเป็นอุปสรรคในการเข้าชมนิทรรศการ

พ3.1.2

สื่อการเรียนรู้แบบหน้าจอสัมผัส เพื่อให้ผู้เข้าชมทั่วไป และผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเข้าชมและได้รับความรู้จากนิทรรศการ

พ3.1.3

วิดีโอภาพเคลื่อนไหว ถ่ายถอดเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนบางลำพู เพื่อให้ผู้ชมทั่วไปและผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ด้วยภาพ

 

การพัฒนาและอบรมบุคลากร เจ้าหน้าที่ของพิพิธบางลำพูได้รับการอบรมอยู่เสมอ เพื่อให้เข้าใจและสามารถถ่ายทอดเนื้อหานิทรรศการ และสื่อที่ใช้ในการจัดแสดงให้ตรงกับความต้องการของผู้เข้าชมกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในการให้บริการ และส่งผลให้ผู้เข้าชมเกิดความพึงพอใจสูงสุดต่อพิพิธบางลำพู

 

พ3.3

 

พิพิธบางลำพูมีการตรวจสอบการใช้งานของอุปกรณ์และสื่อที่ใช้ในการจัดแสดง สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการบริการของเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้เข้าชมซึ่งสอดคล้องกับหลักอารยสถาปัตย์

 

 

กิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยกรมธนารักษ์ ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาคมบางลำพู ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เป็นประจำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

 

 

กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ กรมธนารักษ์ได้คำนึงถึงความสำคัญของการเรียนรู้แก่กลุ่มคนทุกเพศวัย จึงได้จัดกิจกรรม "ธนารักษ์ย้อนวันวาน พิมานสนานพิพิธบางลำพู” โดยเชิญชวนให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ถือเป็นการส่งมอบความสุขและกำลังใจในการดำเนินชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในชุมชนบางลำพูในการทำกิจกรรมร่วมกัน

 

 

กิจกรรมส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชน โดยนำหัตถกรรมอันทรงคุณค่าที่สืบทอดมาอย่างยาวนานของชาวชุมชนบางลำพู ถ่ายทอดผ่านกิจกรรมสาธิตให้นักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมงานได้ชมและลงมือทำ เช่น กิจกรรมสาธิตการแทงหยวก กิจกรรมสาธิตการปักชุดโขน และกิจกรรมสาธิตการทำข้าวต้มน้ำวุ้น เป็นต้น


การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ

การเข้าร่วมโครงการ Muse Pass กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam) และพิพิธภัณฑ์เครือข่ายต่าง ๆ โดยพิพิธบางลำพูได้เข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และร่วมสร้างมาตรฐานกระบวนการเรียนรู้และการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมสร้างความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์วิทยาและพิพิธภัณฑ์ศึกษา ตลอดจนสนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนในสังคม เพื่อต่อยอดองค์ความรู้สู่สาธารณชน

 

 

สรุป

พิพิธบางลำพู เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะอนุรักษ์พื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ประกอบกับกรมธนารักษ์มีนโยบายในการปรับปรุงพื้นที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อชุมชน ประชาชน และสังคม ตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการ พิพิธบางลำพูได้ตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ และความสำคัญของการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม จึงถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ของชุมชนบางลำพูควบคู่ไปกับการนำเสนอบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ นอกจากนี้พิพิธบางลำพู ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ในสังคม ผ่านการจัดนิทรรศการหมุนเวียน การจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ อีกทั้ง ยังมีห้องสมุดชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่สาธารณะที่ชาวบางลำพู และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและใช้ประโยชน์ได้ อันมีส่วนช่วยส่งเสริมให้พิพิธบางลำพูกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสังคมอย่างแท้จริง

 


* ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน.

Corporate Social Responsibility (CSR) หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งคือการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร อันนำไปสู่ การพัฒนาที่ยั่งยืน

อารยสถาปัตย์ (Universal Design) คือ การออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ให้สามารถรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันแตกต่างจากบุคคลทั่วไปด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย

 

 

เอกสารอ้างอิง

พรวิทู โค้วคชาภรณ์.อารยสถาปัตย์ (Universal Design).บทความวิชาการ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, ๒๕๕๗.

สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม.เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม Corporate social Responsibility Guidelines. กรุงเทพฯ: ไอคอนพรินติ้ง,๒๕๕๑.

สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์. กรุงเทพฯ: สันติศิริการพิมพ์,๒๕๕๘

Related articles line
Bang Lamphu
22/5/2561 / 82
BANGLAMPHU destrict has a history of life, sacred food , shopping areas and major tourist attractions. Eventhough the good old days in our area is threat by the approaching of the development of econom..
Phra Sumane Fort
21/5/2561 / 80
In the beginning of Rattanakosin period, 14 forts were built at that time of the purpose of providing the defense from foreign invasions. Nowadays there are only 2 forts remained: Mahakarn Fort and Phr..
Bawon Rangsri Community
14/5/2561 / 57
The communtiy began the first ever profes-sionin the art of gole beater but it is still continued by 'Ban Changthong' who strivse to keep this profression alive for later generation.