อาคารพิพิธบางลำพู
อาคารพิพิธบางลำพู
19/4/2560 / 4 / สร้างโดย Web Admin

พิพิธบางลำพู เป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบางลำพู อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู ถนนพระสุเมรุ ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ มีกลุ่มอาคารสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ที่มีความเป็นมาและมีการใช้งานมายาวนานหลายทศวรรษ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนกลุ่มอาคารเหล่านี้เป็นโบราณสถาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ และยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๔ ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ อีกด้วย โดยกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมตามนโยบายอนุรักษ์อาคารและสิ่งปลูกสร้างเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับภารกิจของกรมธนารักษ์ และศิลปวัฒนธรรมชุมชนของย่านบางลำพูตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน ที่สะท้อนเรื่องราว ความคิด ความนิยม และสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไปตามกระแสของวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย โดยได้เปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘และนับว่าเป็นการใช้พื้นที่โบราณสถานให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

 

อาคารพิพิธบางลำพูจากอดีต – ปัจจุบัน

อาคารพิพิธบางลำพูในที่นี้ หมายถึง กลุ่มอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. ๑๖๖๘ โฉนดที่ ๓ ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๒๓ ตารางวา เดิมบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่บ้านพักอาศัยของพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร หรือ เอม ณ มหาไชย อดีตอธิบดีกรมคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ต่อมาพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกยกให้เป็นที่ราชพัสดุอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ขอใช้เป็นที่เก็บหนังสือ บัญชี สิ่งของต่าง ๆ ของห้างเยอรมันและออสเตรีย จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการได้ขอใช้เป็นร้านสำหรับจำหน่ายแบบเรียน จึงมีการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิม พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารริมกำแพงพระนคร (ด้านที่ติดกับ ถนนพระสุเมรุ) เป็นโรงพิมพ์ชั้นเดียว ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๙

โรงพิมพ์กรมตำราแห่งนี้มีการสั่งเครื่องพิมพ์มาจากบริษัท บาโร บาวน์ จำกัดมาจัดพิมพ์แบบเรียนเลข ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ อาคารชำรุด จึงได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงอีกครั้ง โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ให้รื้อกำแพง พระนครที่ติดกับที่ตั้งอาคารโรงพิมพ์ออกพร้อมกับปรับปรุงอาคารเรือนไม้ที่อยู่ริมคลองบางลำพู เพื่อใช้เป็น ที่เก็บกระดาษ และสิ่งของอื่น ๆ

 

7

 

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเปิดเป็นโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช นับเป็นโรงเรียนสอนวิชาการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย โดยรับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เรียนตามหลักสูตร ๓ ปี ภาคเช้ามีการเรียนการสอนทฤษฎี ภาคบ่ายเป็นการฝึกให้นักเรียนได้พิมพ์งานจริง มีการสร้างอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น แบบเรียบง่ายรูปตัวแอล (L) ทรงเลขาคณิต หรือแบบเบาเฮาส์ (Bauhaus) บันไดภายในและพื้นอาคารเป็นไม้ รวมทั้งมีการก่อสร้างโรงงานของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช บริเวณริมคลองบางลำพู ข้างซอยวัดสังเวชฯ เป็นอาคารเรือนไม้ ๒ ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๓ เมตร และยังสร้างซุ้มประตูคอนกรีต บริเวณหัวมุมพื้นที่ ใกล้กับปากซอยวัดสังเวชฯ (หรือถนนลำพูในปัจจุบัน) สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวทั้งหมด ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ และควบคุมการก่อสร้างโดยหลวงวิศาลศิลปกรรม จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มอาคารแห่งนี้ถูกออกแบบและสร้างด้วยฝีมือคนไทยแห่งแรกของไทย ในระยะแรกอาคารแห่งนี้ถูกใช้เป็นอาคารเรียนโรงเรียนช่างพิมพ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และสามารถใช้เป็นตัวอย่างของการศึกษาสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้

จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โรงเรียนแห่งนี้ได้หยุดทำการเรียนการสอนและรับงานพิมพ์อย่างเดียว เนื่องจากนักเรียนมีจำนวนน้อยและมีภาระการจ้างครู รวมทั้งภาระอื่น ๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงได้เปลี่ยนเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาสังกัดองค์การคุรุสภา ทำหน้าที่พิมพ์ตำราแบบเรียน จากกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้ยุติการพิมพ์ และใช้สถานที่แห่งนี้เป็นคลังสินค้าของคุรุสภา เนื่องจากมีการสร้างโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งใหม่ขึ้นที่ถนนลาดพร้าว จนถึงปี ๒๕๓๘ กระทรวงศึกษาธิการได้หมดสัญญาเช่าพื้นที่ อาคารแห่งนี้จึงว่างลง และส่งคืนพื้นที่แก่กรมธนารักษ์ หลังจากนั้นมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมพระสุเมรุ ทำเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ทำให้มีการรื้ออาคารไม้หลังที่อยู่ติดกับซอยทางเข้าวัดสังเวชฯ (หรือถนนลำพู) ถูกรื้อถอนไป ประชาชนในชุมชนบางลำพูได้แสดงความประสงค์จะใช้พื้นที่แห่งนี้ให้เกิดประโยชน์ และรักษาอาคารและสิ่งปลูกสร้างเดิมที่ยังเหลืออยู่ เพราะอยู่คู่กับชุมชนบางลำพูมาหลายสิบปี

 

 

8

 

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินบริเวณอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) เป็นโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา หน้า ๗ เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๓๓ ง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๒๓ ตารางวา ประกาศ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ต่อมากรมธนารักษ์ได้บูรณะซ่อมแซมอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่โบราณสถานตามหลักอนุรักษ์อาคารเก่า โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖ อีกด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดพิพิธบางลำพูอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ปัจจุบันบนพื้นที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดชุมชนแล้ว กรมธนารักษ์ยังมีการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชนทั่วไป จึงถือได้ว่าพิพิธบางลำพู เป็นโบราณสถานที่มีชีวิตในฐานะพิพิธภัณฑ์สำหรับชุมชน

 

9

 

ลักษณะสำคัญของรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗

อาคารพิพิธบางลำพูเป็นโบราณสถานที่อยู่คู่กับชุมชนบางลำพูมายาวนาน อาคารหรือ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ มีประวัติว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๗ (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๗) ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ ที่พบในสถานที่ต่าง ๆ ของไทยหลายแห่ง ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ มีลักษณะสำคัญ ดังนี้

๑. เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็น ค่อยไป มีการรับอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่นิยมในช่วงนั้นมาใช้ ในลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคนั้น การวางผังอาคารอยู่ในลักษณะของการนำกล่องสี่เหลี่ยมหรือรูปทรงเลขาคณิตมาเรียงต่อกัน

๒. สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ เน้นความเรียบง่าย (Simplicity) ออกแบบรูปทรงเส้นสายอาคารที่ดูแข็งกร้าว ไม่มีลวดลายแบบประเพณีประดับตกแต่ง หลังคาเมื่อดูจากภายนอกจะมองเห็นหลังคาตัด (หลังคาแบนแบบมีดาดฟ้า) มีลักษณะรูปแบบที่เรียบเกลี้ยงไร้ลวดลายประดับตกแต่งใด ๆ จึงเป็นการสะท้อนนัยของการต่อต้านการแบ่งชนชั้นทางสังคม ถึงแม้ว่าอาคารที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๗ จะมีลวดลายก็จะเป็นการปั้นลวดลายที่แสดงลักษณะเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียด สีที่ใช้นิยมใช้สีพื้น โดยมิได้มุ้งเน้นในเรื่องฐานานุศักดิ์แต่อย่างใด มีการลดทอนรายละเอียดให้เรียบเกลี้ยง

๓. มีการออกแบบผังพื้นที่เน้นประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ (Functional) และความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นสำคัญ โดยได้มีการตัดทอนส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นออก

 

1

 

การใช้งานของอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพิพิธบางลำพูจากอดีต – ปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาลักษณะทางสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ ข้างต้น ทำให้เชื่อว่า อาคารสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณพิพิธบางลำพูที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งสอดคล้องกับ ประวัติการสร้างอาคารแห่งนี้ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มอาคารเหล่านี้ ในพิพิธบางลำพูจึงเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยสร้างด้วยวัสดุที่ต่างกันตามช่วงระยะเวลาที่สร้าง ได้แก่ อาคารคอนกรีต อาคารเรือนไม้ และซุ้มประตูคอนกรีต มีอายุการก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๗ ที่รับอิทธิพลจากตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีลักษณะเรียบง่าย เน้นรูปแบบทรงเลขาคณิต บางคนเรียกลักษณะแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า อาคารแบบบาวเฮาส์ (Bauhaus) ซึ่งลักษณะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนความคิด คติความนิยม สภาพบ้านเมืองและสังคมบ้านเมืองในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอาคารและสิ่งปลูกสร้างแต่ละแห่งถือว่าเป็นโบราณสถานที่มีการใช้งานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย

อาคารคอนกรีต ๒ ชั้นเป็นอาคารแบบตะวันตก (หรือแบบบาวเฮาส์) ทรงตัว L ที่เป็นฝีมือคนไทยหลังแรก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ตัวอาคารตั้งอยู่บนแนวกำแพงพระนครเดิม ซึ่งได้รื้อออกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อครั้งที่มีการก่อสร้างอาคารหลังนี้ ในอดีตอาคารหลังนี้เคยใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์คุรุสภา และเป็นสถานฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศ ปัจจุบันสภาพภายนอกอาคารยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ สำหรับภายในพื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นห้องโถงต้อนรับ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน และห้องนิทรรศการที่มี การจำลองร่องรอยแนวกำแพงพระนครที่ต่อเนื่องจากป้อมพระสุเมรุ สำหรับพื้นที่ชั้นบน เป็นห้องนิทรรศการจัดแสดงเกี่ยวกับภารกิจของกรมธนารักษ์ ด้านเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ที่ดินราชพัสดุ และ การประเมินราคาทรัพย์สิน พร้อมด้วยห้องประชุม ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า ด้านหน้าตึกมีตัวอักษรปูนปั้นชื่อว่า "โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” อยู่บริเวณกึ่งกลางอาคารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ตามสภาพที่เห็น ในปัจจุบัน

 

2

 

อาคารเรือนไม้ ๒ ชั้น เป็นอาคารเรือนไม้ใต้ถุนสูงโล่ง เดิมเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศที่มีการติดตั้งเครื่องจักรพิมพ์งานขนาดใหญ่ ลักษณะพื้นใต้ถุนอาคารจะมีร่องรอย การเทคอนกรีตสำหรับวางแท่นพิมพ์ขนาดใหญ่ ชั้นบนเป็นโรงเรียนสอนการพิมพ์ โครงสร้างหลักของอาคารเป็นไม้ หากเดินเข้าไปใต้ถุนอาคารจะเห็นคานเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการบอกกล่าวว่า เป็นคานเหล็กรุ่นเดียวกันกับ คานเหล็กที่สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ปัจจุบันอาคารหลังนี้ชั้นล่างเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้ชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์หรือจัดกิจกรรม รวมทั้งมีการจัดพื้นที่บางส่วนเป็นห้องสมุดสำหรับชุมชน โดยมีการจำลองบรรยากาศห้องเรียนของโรงพิมพ์ พื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นบันไดทางลงจากชั้นบนของอาคาร ส่วนชั้นบนของอาคารเรือนไม้เป็นพื้นที่ห้องจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ย่านตลาดร้านค้าของชุมชนบางลำพูในอดีต

 

3

 

ซุ้มประตูคอนกรีตอยู่บริเวณมุมพื้นที่ติดกับซอยวัดสังเวชหรือถนนลำพู มีลักษณะเป็นซุ้มประตู ทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย หลังคาซุ้มแบนราบไม่มีการประดับตกแต่งลวดลายใด ๆ

 

4

 

สวนหย่อม หรือลานอเนกประสงค์หรือลานลำพูอยู่ตรงกลางพื้นที่กลุ่มอาคารพิพิธบางลำพู ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของอาคาร ๒ ชั้นสำหรับใช้เป็นที่ทำการของโรงพิมพ์และเป็นที่เก็บของ สันนิษฐานว่า ได้รื้ออาคารดังกล่าวออกไปในช่วงที่มีการปรับปรุงพื้นที่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นพื้นที่สวนหย่อมของพิพิธบางลำพู สำหรับใช้เป็นลานอเนกประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรมในวาระโอกาสต่าง ๆ

 

5

 

กลุ่มอาคารในพื้นที่พิพิธบางลำพูเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มอาคารเก่า ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับชุมชนและประชาชนทั่วไปควบคู่กับการอนุรักษ์ดูแลรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก่อนจะปรับปรุงอาคารเพื่อใช้ประโยชน์ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบโครงสร้างและความมั่นคงแข็งแรงของอาคารในการรองรับน้ำหนัก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า อาคารพิพิธบางลำพูเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งบนเกาะรัตนโกสินทร์ สะท้อนให้เห็นบรรยากาศสภาพบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๗ ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับภารกิจด้านต่าง ๆ ของกรมธนารักษ์ และศิลปวัฒนธรรมย่านชุมชนบางลำพู โดยมีแนวคิดการจัดแสดงนิทรรศการให้สอดคล้องกับพื้นที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม (Interactive presentation) มาสร้างสรรค์ให้มีความน่าสนใจ รวมทั้งยังมีห้องสมุดชุมชนบางลำพู บริเวณภายนอกอาคารเป็นสถานที่จัดกิจกรรมอเนกประสงค์ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวที่รังสรรค์ให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชุมชนบางลำพูและประชาชนโดยทั่วไป ควรค่าแก่การรักษาให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนบางลำพูและของประเทศชาติต่อไป และรู้จักโบราณสถานที่มีชีวิตแห่งนี้ว่า "พิพิธบางลำพู”

 

 

 

 

 


* ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์.

กรมธนารักษ์.พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์. (กรุงเทพฯ:สันติศิริการพิมพ์, ๒๕๕๘), หน้า๑๖๐

เอกสารจดหมายเหตุเลขที่ ผจ. ศธ./๑๔ แผนผังที่ดินระวาง ๑ น. ๑ฎ๖ แสดงรายละเอียดบ้านเรือนราชพัสดุของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (บ้านพระยานรนารถภักดี)

เอกสารจดหมายเหตุเลขที่ ศธ.๙/๑๑๔ เลขทะเบียน ๔๐๗. บัญชีหน้าเรื่อง กระทรวงธรรมการ เรื่อง กั้นรั้วสถานที่ตั้งโรงพิมพ์กรมตำรา ด้านริมถนน, ๒๔๗๑.

กรมธนารักษ์,พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์, หน้า ๑๕๖.

ชาตรี ประกิตนนทการ,ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๒), หน้า ๑๑๐.

 

บรรณานุกรม

- เอกสารจดหมายเหตุ

เอกสารจดหมายเหตุเลขที่ ผจ. ศธ./๑๔ แผนผังที่ดินระวาง ๑ น. ๑ฎ๖ แสดงรายละเอียดบ้านเรือนราชพัสดุ

ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (บ้านพระยานรนารถภักดี)

เอกสารจดหมายเหตุเลขที่ ศธ.๙/๑๑๔ เลขทะเบียน ๔๐๗. บัญชีหน้าเรื่อง กระทรวงธรรมการ เรื่อง กั้นรั้ว

สถานที่ตั้งโรงพิมพ์กรมตำรา ด้านริมถนน, ๒๔๗๑.

- หนังสือ

กรมธนารักษ์.พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์. กรุงเทพฯ: สันติศิริการพิมพ์. ๒๕๕๘.

กำจร สุนพงษ์ศรี.ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์. ๒๕๔๓

ชาตรี ประกิตนนทการ.การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม.

กรุงเทพฯ: มติชน. ๒๕๔๗.

_________________. ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ: มติชน. ๒๕๕๒.

รองศาสตราจารย์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. "สถาปัตยกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ เนื่องในวาระครบ ๑๐๐ ปี พระราชสมภพพระบาทสมเด็จ

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ๒๕๓๗.

Related articles line
Bang Lamphu
22/5/2561 / 82
BANGLAMPHU destrict has a history of life, sacred food , shopping areas and major tourist attractions. Eventhough the good old days in our area is threat by the approaching of the development of econom..
Phra Sumane Fort
21/5/2561 / 80
In the beginning of Rattanakosin period, 14 forts were built at that time of the purpose of providing the defense from foreign invasions. Nowadays there are only 2 forts remained: Mahakarn Fort and Phr..
Bawon Rangsri Community
14/5/2561 / 58
The communtiy began the first ever profes-sionin the art of gole beater but it is still continued by 'Ban Changthong' who strivse to keep this profression alive for later generation.