พระพุทธบางลำพูประชานาถ : พุทธศิลป์อินเดียที่พึ่งแห่งชาวบางลำพู
พระพุทธบางลำพูประชานาถ : พุทธศิลป์อินเดียที่พึ่งแห่งชาวบางลำพู
28/9/2561 / 288 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา / เรียบเรียงโดย สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี

สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี[1]

           ในพุทธศาสนานอกเหนือจากมีหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังมีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า จากหลักฐานทางโบราณคดีพบพระพุทธรูปอินเดียรุ่นแรกได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากการสร้างรูปเคารพแทนองค์เทพเจ้าในวัฒนธรรมกรีก – โรมันที่เข้ามายังประเทศอินเดีย ในช่วงสมัยหลังพุทธกาล สันนิษฐานว่า เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปรุ่นแรกในประเทศอินเดีย ภายหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานราว 500 ปี เพื่อเป็นรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า โดยมีการสร้าง "พระพุทธรูป” เพื่อเป็นรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้าควบคู่กับหลักธรรมคำสั่งสอนให้เกิดเป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นในดินแดนต่าง ๆ ที่พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปถึง โดยปรากฏหลักฐานการสร้างพระพุทธรูปหรือรูปเคารพในพุทธศาสนาขึ้น ตามลักษณะคติความเชื่อและจินตนาการของผู้สร้างในดินแดนต่าง ๆ จนเกิดเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อถือศรัทธาและความนิยมในแต่ละท้องถิ่น ในบางท้องถิ่นมีการสร้างพระพุทธรูปให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนในชุมชนหรือในพื้นที่เลื่อมใสศรัทธา หรือเป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนในชุมชนที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน ในชุมชนพุทธศาสนิกชนไทยหลายแห่งก็มีการสร้างหรืออัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานอยู่ตามพระอารามต่าง ๆ ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญของชุมชนบางลำพู ซึ่งเป็นย่านชุมชนการค้าและอยู่อาศัยเก่าแก่มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระพุทธรูปสำคัญประจำชุมชนซึ่งมีพุทธศิลป์ที่แตกต่างจากพระพุทธรูปในศิลปะไทยที่พบโดยทั่วไป และเป็นที่รู้จักกันดีของชุมชนชาวบางลำพู ที่เรียกพระพุทธรูปองค์นี้กันว่า "พระพุทธบางลำพูประชานาถ” (ภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 พระพุทธบางลำพูประชานาถ

          1. ความเป็นมาและความสำคัญของพระพุทธบางลำพูประชานาถ
           พระพุทธบางลำพูประชานาถ เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชุมชนชาวบางลำพู มีประวัติการสร้าง โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2532 – 2556)[2] (ภาพที่ 2) ได้โปรดให้ช่างหล่อพระพุทธรูปปางสมาธิขึ้นจากโลหะสำริดปิดทองคำเปลว มีพุทธศิลป์คล้ายกับพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ พร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในบริเวณพระอุระเบื้องซ้ายขององค์พระพุทธรูป โดยได้อัญเชิญประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหารให้พุทธศาสนิกชนชาวบางลำพูและประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชา ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกฯ ได้ประทานพระพุทธรูปองค์นี้ให้แก่ชาวบางลำพู เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2543 เพื่อเป็นที่ ยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับชาวบางลำพู พร้อมทั้งประทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธบางลำพูประชานาถ” อันมีความหมายว่า "พระพุทธรูปอันเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนชาวบางลำพู” (ภาพที่ 3)


ภาพที่ 2 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สรงน้ำพระพุทธบางลำพูประชานาถ


ภาพที่ 3 นามพระพุทธรูป "พระพุทธบางลำพูประชานาถ”

          ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวบางลำพู จะอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถออกจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารให้ประชาชนได้มีโอกาส สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลกลายเป็นประเพณีของชาวบางลำพู (ภาพที่ 4) ต่อมาในปี 2557 ชาวบางลำพูได้รับประทานอนุญาตจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกฯ ให้อัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถมาประดิษฐานอย่างถาวร ณ พิพิธบางลำพู ในโอกาสที่กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงโรงพิมพ์คุรุสภาเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน และสังคม ชาวบางลำพูจึงได้อัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถมาประดิษฐานภายในห้องจัดแสดงชั้นบนของอาคารเรือนไม้ พิพิธบางลำพู เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557[3] เพื่อให้ชาวบางลำพูได้มีโอกาสเป็นมิ่งขวัญ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบางลำพูสืบไป (ภาพที่ 5)
          การอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถมายังบริเวณสวนสันติชัยปราการ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นโอกาสเดียวที่ประชาชนสามารถสรงน้ำได้ในรอบ 1 ปี[4] แสดงให้เห็นว่า พระพุทธบางลำพูประชานาถเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญต่อชาวบางลำพูเป็นอย่างมาก นอกจากเป็น ที่ยึดเหนี่ยวหรือศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบางลำพูแล้ว ทำให้เกิดความสมานสามัคคีกันภายในชุมชน ตลอดจนเป็นพระพุทธรูปที่มีความหมายสำหรับประชาชนชาวบางลำพู ในฐานะเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ประทานให้แก่ชาวบางลำพู อันเป็นความพิเศษของพระพุทธรูปองค์นี้ หากพิจารณาลักษณะภายนอกของพระพุทธรูปแล้ว พบว่า พระพุทธบางลำพูประชานาถเป็นมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปอินเดียมีพุทธศิลป์ที่แตกต่างจากพระพุทธรูปสำคัญของไทยทั่วไป พุทธลักษณะบางอย่างของพระพุทธบางลำพูประชานาถจึงแสดงให้เห็นความพิเศษเฉพาะตัวที่ต่างจากพระพุทธรูปไทยและพระพุทธรูปอินเดียทั่วไป ซึ่งจะขอกล่าวถึงในส่วนต่อไป


ภาพที่ 4 ชาวบางลำพูแห่พระพุทธบางลำพูประชานาถให้ประชาชนได้สรงน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์


ภาพที่ 5 พระพุทธบางลำพูประชานาถจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมและสักการะ ณ พิพิธบางลำพู

          2. พุทธศิลป์อินเดียแบบคันธาระ : ต้นแบบแห่งพระพุทธบางลำพูประชานาถ
          จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในปัจจุบันสันนิษฐานได้ว่า การสร้างพระพุทธรูปหรือพุทธปฏิมาเกิดขึ้นครั้งแรกของโลก โดยช่างฝีมือแคว้นคันธารราฐหรือคันธาระ (Gandhara)[5] ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 6 - 9 หรือประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว จึงเรียกพระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลนี้ว่า พระพุทธรูปศิลปะแบบคันธาระ มีพุทธศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรีกและโรมัน หรือศิลปะตะวันตก เนื่องจากพื้นที่บริเวณแคว้นคันธาระเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งเคยยกทัพมาและปกครองอินเดียมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2 – 3[6] ทำให้ศิลปะกรีก – โรมันเข้ามามีอิทธิพลในการสร้างพระพุทธรูปของอินเดียในระยะแรก โดยกลุ่มช่างสกุลนี้ได้นำรูปแบบการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าในศิลปะกรีก – โรมัน มาสร้างเป็นรูปเคารพแทนพระศาสดาในพุทธศาสนาแทนการสร้างรูปสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าในศิลปะอินเดียโบราณที่มีมาแต่เดิม โดยสลักจากหินให้มีพุทธลักษณะที่สัมพันธ์กับมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ[7] ของพระพุทธเจ้าอย่างลงตัว พระพุทธรูปอินเดียศิลปะแบบคันธาระจึงได้รับการยอมรับว่า เป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของโลก (ภาพที่ 6) และมีพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์และงดงาม และส่งอิทธิพลให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปอินเดียและพระพุทธรูปศิลปะประเทศใกล้เคียง หรือดินแดนที่พระพุทธศาสนาเข้าไปถึงในสมัยต่อมา ในที่นี่จะขอกล่าวถึงองค์ประกอบทางพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระ ดังนี้[8]


ภาพที่ 6 พระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ ต้นแบบแห่งพระพุทธบางลำพูประชานาถ


ภาพที่ 7 ประภามณฑลหรือแผ่นหินกลมเรียบด้านหลังพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ

          1. ประภามณฑล (วงรัศมี) เป็นวงกลมเรียบ (ภาพที่ 7) สร้างตาม halo[9]อย่างเทพอะพอลโล่หรือสุริยเทพของกรีก – โรมัน แสดงคติความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง ทรงเทียบได้กับพระอาทิตย์ นอกจากนี้แผ่นหินประภามณฑลนี้ยังทำหน้าที่ยึดพระเศียร พระศอและพระอังสาของพระพุทธรูปไว้ให้แข็งแรง เนื่องจากส่วนนี้เป็นจุดที่แตกหักง่าย
          2. อุษณีษะ ทำเป็นมวยผม พระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระจะสลักมวยพระเกศา (มวยผม)ให้ดูเหมือนมีเส้นเชือกรัดมวยพระเกศาไว้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ ซึ่งมีพระเกศาในลักษณะหยักศกซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรีก – โรมัน (ภาพที่ 8)


ภาพที่ 8 เศียรพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ มีอุษณีษะทำเป็นมวยผม มีพระเกศาหยักศก


ภาพที่ 9 อุณาโลมระหว่างพระขนง (คิ้ว)และพระมัสสุ (หนวด)
ลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ

          3. ขนระหว่างพระขนง (คิ้ว) หรือ อุณาโลม (อูรณา[10]) (ภาพที่ 9) ซึ่งคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะกล่าวว่า เป็นเส้นขนอ่อนนุ่มเหมือนนุ่น พระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระมีอุณาโลมเป็นองค์ประกอบหลัก จึงเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดีย และได้ส่งอิทธพลให้เกิดเป็นรูปอุณาโลมพุทธศิลป์ในสมัยต่อมา
          4. พระมัสสุ (หนวด) (ภาพที่ 9) เป็นพุทธลักษณะที่ได้รับอิทธิพลมาจากประติมากรรมศิลปะกรีก – โรมัน ซึ่งพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระจะมีการสลักพระมัสสุไว้ด้วย จึงถือเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปในศิลปะคันธาระ
          5. การห่มจีวรแบบห่มคลุม มีลักษณะคล้ายการห่มผ้าโทก้า[11] ของประติมากรรมในศิลปะกรีก – โรมันและทำริ้วผ้าเป็นธรรมชาติตามแนวคิดสัจนิยมแบบกรีก – โรมัน โดยมีการทำริ้วผ้าและช่องระหว่างริ้วผ้าให้กว้างแคบไม่เท่ากัน รวมทั้งจุดกำเนิด และจุดจบของแต่ละริ้วก็ไม่ใช่จุดเดียวกัน สังเกตได้ว่า ผ้าจีวรยังดูหนาบังสัดส่วนร่างกาย (ภาพที่ 10)


ภาพที่ 10 การห่มจีวรแบบห่มคลุม มีลักษณะคล้ายการห่มผ้าโทก้า
จีวรเป็นริ้วธรรมชาติตามแนวคิดสัจนิยมแบบกรีก – โรมัน

          6. การวางท่า ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะลักษณะพระพุทธรูปประทับนั่ง ชายจีวรที่ห่มคลุมจะตกลงมาปิดบริเวณพระเพลา ทำให้สังเกตเห็นลักษณะการประทับนั่งขัดสมาธิเพชรได้ไม่ชัดเจนนักจากพุทธลักษณะของพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตว่า พระพุทธบางลำพูประชานาถมีพุทธศิลป์คล้ายกับพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระ จึงนับว่าพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระเป็นต้นแบบของการสร้างพระพุทธบางลำพูประชานาถ แสดงถึงพุทธศิลป์แบบอินเดียที่ตกทอดมา ถึงยุคปัจจุบัน

          3. การสร้างพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระในสังคมไทย

          จากหลักฐานทางโบราณคดีในดินแดนประเทศไทยพบว่า พระพุทธรูปเก่าแก่รุ่นแรกของไทย เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลอินเดียสมัยหลังศิลปะแบบคันธาระลงมาแล้ว และมีการปรับแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปให้มีพุทธลักษณะตามวัฒนธรรมความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น การสร้างพระพุทธรูปศิลปะแบบคันธาระ เป็นที่รู้จักในสังคมและวัฒนธรรมไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา สันนิษฐานว่า เกิดจากมีแนวคิดการสร้างพระพุทธรูปที่หันกลับไปหาแนวคิดและรูปแบบการสร้างพระพุทธรูปเลียนแบบพุทธศิลป์แบบดั้งเดิมที่เคยได้รับ ความนิยมในอดีต โดยพระพุทธรูปแบบดั้งเดิมตามแนวคิดในลักษณะเหมือนจริงที่เคยมีมาก่อน พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนลักษณะรูปแบบบางอย่างให้เข้ากับความนิยมสมัยใหม่เพิ่มเข้าไป ในราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์มีการสร้างพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์แบบพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปยืน (ภาพที่ 11) ปางขอฝน มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระ เนื่องจากเสด็จประพาสประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ 2418 ซึ่งเป็นช่วงที่นักวิชาการตะวันตกกำลังให้ความสนใจศึกษาศิลปะอินเดียแบบคันธาระ และให้ความเห็นว่า ศิลปะคันธาระเป็นต้นกำเนิดของการสร้างพระพุทธรูป[12] โดยนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า การสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกในศิลปะอินเดียแบบคันธาระ นอกจากนี้แนวคิดการสร้างพระพุทธรูปเสมือนจริง หรือแนวคิดสัจนิยมเกิดขึ้นในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ดังนั้นการสร้างพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบคันธาระที่มีลักษณะเสมือนจริง สอดคล้องกับแนวคิดสัจนิยมที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 การสร้างพระพุทธรูปในสมัยต่อมา จึงมีพุทธศิลป์ที่ช่างหรือผู้สร้างพระพุทธรูปนิยมชมชอบตามพุทธลักษณะหรือรูปแบบในแต่ละยุคสมัยหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบตามอุดมคติเดิมที่เคยมีมาในอดีตอีกต่อไป ดังเช่น พระพุทธบางลำพูประชานาถที่มีพุทธศิลป์แบบอินเดียที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน


ภาพที่ 11 พระพุทธรูปปางขอฝน สมัยรัชกาลที่ 5 อิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคันธาระ


ภาพที่ 12 บริเวณพระอุระเบื้องซ้าย ของพระพุทธบางลำพูประชานาถภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

         4. พุทธลักษณะของพระพุทธบางลำพูประชานาถ

          4.1 พุทธลักษณะโดยทั่วไป
          พระพุทธบางลำพูประชานาถ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสำริด ปิดทองคำเปลว มีพุทธศิลป์คล้ายกับพระพุทธรูปอินเดียในศิลปะคันธาระ (เป็นศิลปะอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 6 – 10 ) ปางสมาธิ ประทับนั่ง ตรงบริเวณด้านหน้าฐานบัวมีชายผ้าทิพย์ห้อยอยู่ตรงกลาง ขนาดหน้าตักกว้าง 65 เซนติเมตร ความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร มีพระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มพระสรวลเล็กน้อย พระเกศาหยักเป็นลอนสลวยในแนวเส้นลอนผมเสมอกัน มีอุษณีษะนูนตามพุทธลักษณะในอุดมคติ พระกรรณยาว จีวรห่มคลุม ยับเป็นริ้วแบบธรรมชาติ พระหัตถ์ทำสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร[13] ในพุทธลักษณะโดยรวม มีลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ ภายในองค์พระบริเวณพระอุระเบื้องซ้าย บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (ภาพที่ 12)

           4.2 พุทธลักษณะเฉพาะ
          เมื่อพิจารณาลักษณะพุทธศิลป์ของพระพุทธบางลำพูประชานาถพบว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์โดยทั่วไปคล้ายกับพระพุทธรูปอินเดียในศิลปะแบบคันธาระดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีข้อสังเกตุเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ที่มีลักษณะเฉพาะที่เห็นได้อย่างเห็นได้ชัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของพระพุทธรูปองค์นี้ มีลักษณะเฉพาะและมีพุทธศิลป์ที่ต่างจากพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ พอสรุปได้ดังนี้
          1. พระพุทธบางลำพูประชานาถสร้างขึ้นจากโลหะ โดยการหล่อโลหะสำริด ปิดทองคำเปลว อันเป็นเทคนิคการหล่อพระพุทธรูปในสมัยปัจจุบัน ซึ่งต่างจากพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระจะนิยมสลักจากหิน ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกรีก – โรมันในสมัยโบราณ ในระยะแรกหลังพุทธกาล ประกอบกับสกุลช่างคันธาระของอินเดียในอตีตที่มีความชำนาญในการสลักประติมากรรมจากหิน ทำให้พระพุทธบางลำพูประชานาถมีองค์ประกอบทางกายภาพที่ต่างจากพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระทั่วไป
          2. มีพระเกศาหยักเป็นลอนเสมอกัน มีเส้นคั่นหยักลอนพระเกศา (ภาพที่ 13) ลักษณะนี้ไม่ปรากฏในพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระ โดยปกติพระพุทธรูปอินเดียแบบคันธาระจะมีลักษณะพระเกศาที่หยักเป็นลอนแบบธรรมชาติ มีเส้นพระเกศา (หรือผม) ที่หยักเป็นลอนไม่เท่ากัน


ภาพที่ 13 ลอนพระเกศาพระพุทธบางลำพูประชานาถมีเส้นคั่นลอนพระเกศาเสมอกัน

           3. พระพักตร์เกลี้ยง บริเวณพระนลาภ (หน้าผาก) เรียบ ไม่มีอุณาโลมหรือขนนุ่มอยู่กลางพระนลาภ และไม่มีพระมัสสุ (หนวด) ตามคติมหาบุรุษลักษณะในพระพุทธรูปอินเดียในศิลปะคันธาระ (ภาพที่ 14) แสดงให้เห็นว่าพระพุทธบางลำพูประชานาถสร้างขึ้นโดยไม่ได้ยึดติดกับองค์ประกอบตามคติความเชื่อเกี่ยวกับมหาบุรุษลักษณะของพระพุทธเจ้า


ภาพที่ 14 พระพักตร์พระพุทธบางลำพูประชานาถมีลักษณะเกลี้ยงเกลา ไม่มีอุณาโลมและพระมัสสุ

          4. พระพุทธบางลำพูประชานาถไม่มีประภามณฑลหรือวงรัศมี (ภาพที่ 15) เป็นลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปแบบคันธาระทั่วไปที่มีวงรัศมีเป็นวงกลมเรียบ ตามแบบการสร้างประติมากรรมเทพเจ้าตะวันตก เนื่องจากแผ่นหินประภามณฑลในพระพุทธรูปอินเดียศิลปะคันธาระ นอกจากมีการทำขึ้นตามอุดมคติแล้ว แผ่นหินประภามณฑลนี้ยังทำหน้าที่ยึดพระเศียร พระศอและพระอังสาของพระพุทธรูปไว้ให้แข็งแรง เนื่องจากส่วนนี้เป็นจุดที่แตกหักง่าย แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปองค์นี้


ภาพที่ 15 ด้านหลังพระเศียรไม่มีแผ่นหินประภามณฑลหรือรัศมี

           จากพุทธลักษณะข้างต้นมีลักษณะบางอย่างที่ต่างจากพระพุทธรูปศิลปะคันธาระของอินเดียหลายประการ จึงถือได้ว่า พระพุทธบางลำพูประชานาถเป็นพระพุทธรูปไทยที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดีย สะท้อนให้เห็นพุทธศิลป์แบบอินเดียที่ยังคงได้รับความนิยมและการยอมรับของช่างไทยในปัจจุบัน ที่ผู้สร้างต้องการแสดง พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปรุ่นแรกของโลกเอาไว้ กล่าวได้ว่า พระพุทธบางลำพูประชานาถมีพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคล้ายกับพระพุทธรูปอินเดีย และแตกต่างจากพระพุทธรูปไทยทั่วไปในย่านบางลำพู นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์แบบอินเดียหนึ่งเดียวในย่างบางลำพู นอกจากลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นรูปธรรมแล้ว พระพุทธบางลำพูประชานาถยังมีสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนชาวบางลำพูและประชาชนทั่วไป (ภาพที่ 16) ในฐานะศูนย์กลางความศรัทธาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพนับถือของชาวบางลำพูที่มีต่อพุทธศาสนาและสมเด็จ พระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ประทานพระพุทธบางลำพูประชานาถให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบางลำพู จนกลายเป็นศูนย์รวมความเชื่อ และความศรัทธาร่วมกัน ทำให้เกิดความสมานสามัคคีกันในชุมชน ตรงกับความหมายว่า "พระพุทธรูปอันเป็นที่พึ่งแก่ชาวบางลำพู” และอยู่คู่กับประชาชนชาวบางลำพู ณ พิพิธบางลำพูตลอดไป


ภาพที่ 16 พระพุทธบางลำพูประชานาถ

-----------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
[1]ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์
[2]วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร. งานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คติชนวิทยา. 2559, หน้า 15.
[3]อรศรี ศิลปี. ประธานประชาคมบางลำพู สัมภาษณ์, วันที่ 31 สิงหาคม 2561.
[4]สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์. พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์. กรุงเทพฯ: สันติศิริการพิมพ์. 2558, หน้า 161.
[5] เป็นชื่อเรียกแคว้นหรือดินแดนทางตอนเหนือของอนุทวีปอินเดีย ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวกรีกในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2 – 3
[6]บรรยง บุญฤทธิ์. อเล็กซานเดอร์มหาราช : ยอดนักรบผู้พิชิตสุดขอบโลก. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2547, หน้า 20.
[7]หมายถึง ลักษณะที่ดีของมหาบุรุษ 32 ประการ ที่มีการจารึกไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระพุทธเจ้า
[8]รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย. นนทบุรี : หสม.สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส. หน้า 69.
[9]รัศมีที่อยู่ด้านหลังศีรษะของเทพเจ้าในศิลปะกรีก – โรมัน
[10]อูรณา เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า นุ่น
[11]ผ้าโทก้า (Toga) เป็นเครื่องแต่งกายที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของโรมันโบราณ เป็นผืนผ้ามีความยาวประมาณ 6 เมตรที่ใช้พันรอบตัวใช้เฉพาะบุรุษเท่านั้น
[12]ผิน ทุ่งคา. พระพุทธรูป "คันธารราฐ” สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศิลปะแบบคันธารราฐ. เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม:http://www.silpa-mag.com, 2560.
[13]ขัดสมาธิเพชร หมายถึง ขัดสมาธิไขว้พระชงฆ์ (แข้ง) หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระหัตถ์วางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก)


เอกสารอ้างอิง
บรรยง บุญฤทธิ์. อเล็กซานเดอร์มหาราช : ยอดนักรบผู้พิชิตสุดขอบโลก. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์,
          2547.
ผิน ทุ่งคา. พระพุทธรูป "คันธารราฐ” สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศิลปะแบบคันธารราฐ.
          เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม : http://www.silpa-mag.com, 2560.
มานิต วัลลิโภดม. ปฏิมากรรมแห่งศิลปะคันธาระ. พระนคร : กรมศิลปากร, 2512.
รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบ
          พัฒนาการ  ความหมาย. นนทบุรี : หสม.สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส., 2558.
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร. งานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ :
          สำนักพิมพ์คติชนวิทยา. 2559.
สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์. พิพิธบางลำพู กรมธนารักษ์. กรุงเทพฯ: สันติศิริการพิมพ์.
          2558.
หม่อมเจ้าสุภัทรดิส ดิสกุล. ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง. พิมพ์ครั้งที่ 7 กรุงเทพฯ : มติชน,
          2556.
อรศรี ศิลปี. ประธานประชาคมบางลำพู สัมภาษณ์, วันที่ 31 สิงหาคม 2561.