มัสยิดจักรพงษ์: สถาปัตยกรรมมุสลิมสำคัญแห่งเกาะรัตนโกสินทร์
มัสยิดจักรพงษ์: สถาปัตยกรรมมุสลิมสำคัญแห่งเกาะรัตนโกสินทร์
28/9/2561 / 245 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา

ลลิตา อัศวสกุลฤชา*

ในย่านบางลำพูมีชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ชุมชนหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นามว่า ชุมชนตรอกสุเหร่า คนในชุมชนส่วนใหญ่อพยพมาจากทางภาคใต้ของไทย โดยมีความรู้ด้านการทำทองติดตัว ทำให้ชุมชนนี้เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต และเป็นชุมชนชาวมุสลิมมีที่บทบาทสำคัญในด้านช่างฝีมือของกรุงรัตนโกสินทร์ มัสยิดถือเป็นสถานที่สำคัญของชาวมุสลิม ทำให้คนในชุมชนตรอกสุเหร่าจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างมัสยิดจักรพงษ์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งในด้านศาสนา และการดำเนินชีวิต ด้วยชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือชั้นดี ทำให้มัสยิดจักรพงษ์ถูกรังสรรค์อย่างวิจิตรบรรจง จนทำให้เป็นมัสยิดแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของฝีมือช่าง และเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของย่านบางลำพู

ความหมายของมัสยิด
มัสยิด คือสถานที่สำหรับแสดงความภักดีต่อพระเจ้า และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาและการดำเนินชีวิตประจำวันตามแนวทางศาสนาอิสลาม มาจากคำกริยาภาษาอาหรับว่า "ซะยะดะ” แปลว่า สุญุต หรือการกราบไหว้ ซึ่งชาวมุสลิมสามารถกราบไหว้ได้เฉพาะเพียงพระผู้เป็นเจ้าอัลลอฮ์ องค์เดียวเท่านั้น และการกราบไหว้นั้น เรียกว่า การนมาชหรือละหมาด มัสยิดจึงมีความหมายว่า "ที่สำหรับการนมัสการพระเจ้า” ศาสดามุฮำมัส ได้เคยกล่าวว่า โลกทั้งหมดเป็นมัสยิด เนื่องจากหลักการอิสลามสนับสนุนให้คนมารวมกัน ได้ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน ได้ทำความรู้จักกัน เพื่อให้เกิดการรักใคร่สามัคคี หรือความเป็นปึกแผ่นในสังคม ดังนั้น มุสลิมจะสามารถใช้พื้นที่ส่วนใดบนโลกทำละหมาดหรือสุญุตต่อพระผู้เป็นเจ้าได้ รวมถึงการสร้างอาคารเพื่อเป็นจุดที่จะสุญตต่อพระองค์ร่วมกัน โดยอาคารนั้นไม่จำเป็นต้องสร้างอย่างวิจิตรงดงาม รวมถึงห้ามมีการประดิษฐานหรือตกแต่งด้วยรูปปั้นต่างๆ ฉะนั้น มัสยิดจึงมีความหมายว่าบ้านอัลลอฮ์ หรือสถานที่ที่ใช้ปฏิบัติศาสนกิจ (ละหมาด) เพื่ออัลลอฮ์ [1]

องค์ประกอบของมัสยิด
มัสยิด มีองค์ประกอบของอาคารที่สำคัญ ดังนี้[2]


องค์ประกอบภายในมัสยิด
ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=36&chap=1&page=chap1.htm

1. โถงละหมาด
โถงละหมาด เป็นส่วนประกอบสำคัญของมัสยิดที่ใช้ประกอบศาสนกิจร่วมกัน ภายในระบุทิศทางกิบละฮ์สำหรับแสดงความเคารพภักดีร่วมกัน มีความสะอาด สงบ เป็นสัดส่วน และปลอดภัยจากสิ่งรบกวนต่างๆ โถงละหมาดมักเชื่อมต่อกับโถงอเนกประสงค์ซึ่งทำหน้าที่เสมือนโถงทางเข้าและรองรับการขยายตัวของกิจกรรมจากโถงละหมาด พื้นที่ละหมาดสำหรับ 1 คน มีขนาดประมาณ 0.50 – 0.60 × 1.20 เมตร เมื่อทำละหมาดร่วมกัน อิหม่ามจะยืนอยู่หน้าสุดเพื่อนำให้ผู้ละหมาดตามที่ยืนเรียงแถวหน้ากระดานอยู่ด้านหลังละหมาดโดยพร้อมเพรียงกัน เชื่อว่า ผู้ที่มาละหมาดก่อนในสองแถวแรกจะถือว่ามีความประเสริฐมากกว่าแถวหลัง มัสยิดหลายแห่งจึงวางผังให้มีความกว้างมากกว่าความลึก


โถงละหมาด
ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=36&chap=1&page=chap1.htm

2. มิห์รอบ
มิห์รอบ เป็นองค์ประกอบที่ใช้ระบุทิศทางกิบละห์ อาจมีลักษณะเป็นซุ้มโค้งเว้าเข้าไปในผนัง หรือเป็นเพียงผนังต่างระนาบที่ประดับด้วยลวดลายเพื่อให้เป็นที่สังเกต แต่มักจะไม่ประดับมากจนรบกวนสมาธิของผู้ละหมาด และมักไม่มีช่องเปิดเนื่องจากทำให้ผู้ละหมาดเสียสมาธิจากการเห็นกิจกรรมภายนอก
3. มิมบัร
มิมบัร เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับให้อิหม่ามหรือคอเต็บ (ผู้แสดงธรรม) ขึ้นกล่าวคุตบะห์ (แสดงธรรม) แจ้งข่าว หรือปราศรัยในโอกาสที่มีการละหมาดร่วมกันในวันศุกร์ มิมบัร เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงรูปแบบความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างมุสลิมและผู้นำ โดยทั่วไปมิมบัรมักจะวางทางด้านขวาของมิห์รอบ เมื่อเสร็จจากการกล่าวคุตบะฮ์แล้ว อิหม่ามหรือคอเต็บจะลงมาละหมาดร่วมกับทุกคนในระดับที่เท่าเทียมกัน
4. ลานอเนกประสงค์ หรือโถงอเนกประสงค์
ลานอเนกประสงค์ หรือโถงอเนกประสงค์ ทำหน้าที่รองรับคนเข้าออกจากโถงละหมาดทั้งในวันปกติและวันสำคัญซึ่งมีคนมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังใช้จัดกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอีกด้วย
5. ที่อาบน้ำละหมาด
ข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามกำหนดให้มีการอาบน้ำละหมาดก่อนการละหมาดซึ่งเป็นการทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มือ ใบหน้า แขน เท้า เป็นต้น โดยอาจทำมาจากสถานที่อื่นแล้วเดินทางมามัสยิดหรือจะมาทำที่มัสยิดก็ได้สถานที่อาบน้ำละหมาดมักอยู่ในพื้นที่อเนกประสงค์ ผู้ที่อาบน้ำละหมาดแล้วจะเดินผ่านเขตมัสยิดที่สะอาดเข้าสู่โถงละหมาดได้โดยตรงโดยไม่ต้องสวมรองเท้า พื้นที่ส่วนนี้มักจะเตรียมไว้อาบน้ำละหมาดได้หลายคนพร้อมกัน โดยอาจเป็นน้ำพุ บ่อน้ำหรือก๊อกน้ำ บางแห่งประดับประดาอย่างสวยงาม
6. หออะซาน
หออะซาน เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้ประกาศเวลาละหมาดหรือที่เรียกว่ามุอัซซินขึ้นไปอะซานให้ได้ยินไปไกลที่สุด การอะซานเป็นการเรียกให้มาละหมาดเมื่อถึงเวลาละหมาดประจำวันวันละ 5 เวลา
ท่านศาสดาได้กำหนดให้ผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานมาละหมาดร่วมกันที่มัสยิด พื้นที่ที่อยู่ในรัศมีเสียงอะซานจึงมักเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ของชุมชน หออะซานมักเป็นหอสูงที่มีรูปทรงที่โดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ของมัสยิดที่มองเห็นได้ในระยะไกล ในปัจจุบัน แม้หออะซานจะลดความสำคัญลงเนื่องจากมีเครื่องกระจายเสียงที่ทำให้ได้ยินไปไกล แต่หออะซานยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่ทำให้มองเห็นตำแหน่งของมัสยิดและชุมชนมุสลิมได้จากระยะไกล
7. ซุ้มประตู
มัสยิดโดยทั่วไปมักมีการกำหนดขอบเขตเพื่อแยกพื้นที่ภายในที่สงบออกจากสิ่งรบกวนภายนอก โดยอาจเป็นกำแพงหรือคูน้ำล้อมรอบเพื่อแยกเป็นสัดส่วนและมีซุ้มประตูเป็นตัวเชื่อมต่อที่บ่งบอกถึงการเข้าถึงมัสยิด และเป็นตัวเน้นมุมมองให้สัมพันธ์กับแกนของมัสยิด ซุ้มประตูมักเป็นส่วนที่มีการประดับประดาอย่างสวยงามเช่นเดียวกับโดมและหออะซาน
8. แท่นสำหรับผู้ขานสัญญาณ (Dikka)
เป็นสถานที่สำหรับให้มุบัลลิก (ผู้ขานสัญญาณ) ส่งเสียงให้สัญญาณต่อจากอิหม่ามเพื่อให้คนที่อยู่ไกลสามารถได้ยินสัญญาณและละหมาดพร้อมกันได้ในกรณีที่มีคนมาละหมาดเป็นจำนวนมาก แท่นนี้มักเป็นพื้นที่เล็กๆ สูงประมาณ 1 ชั้น อาจอยู่บริเวณหน้าแท่นมิมบัรหรือกลางโถงละหมาดหรือกลางลานโล่งภายนอก ปัจจุบัน แท่นนี้ลดความสำคัญลงเมื่อมีเครื่องขยายเสียงที่ทำให้ได้ยินเสียงอิหม่ามทั่วทั้งมัสยิด
9. มักซูเราะห์ (Maqsurah)
เป็นที่ที่กั้นไว้สำหรับผู้ปกครองหรือคอลีฟะห์ยืนละหมาด จึงมักมีทางเชื่อมพิเศษให้ผู้ปกครองสามารถเข้าสู่มัสยิดได้เป็นการส่วนตัว ต่อมาในสมัยหลังพื้นที่เช่นนี้ไม่มีแล้ว

การใช้งานในพื้นที่มัสยิด
มัสยิด ถูกแบ่งพื้นที่การใช้งานในด้านต่างๆ ดังนี้ [3]
1. พื้นที่สำหรับทำพิธี
ในระยะแรก พื้นที่ส่วนนี้ใช้ร่วมกับส่วนอื่น แต่เมื่อสถาปัตยกรรมมัสยิดพัฒนารูปแบบจนเกิดการสร้างพื้นที่ใช้สอยที่ซับซ้อนขึ้นพื้นที่ส่วนนี้จึงมักจะแยกเป็นสัดส่วนแยกจากส่วนอื่น โดยมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น มิห์รอบ และมิมบัร ซึ่งมีที่มาจากการใช้งานแต่ถูกนำไปตีความเพื่อใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในภายหลัง เช่น มิมบัร เป็นสิ่งที่เตือนให้รำลึกถึงท่านศาสดา และมิห์รอบ เปรียบเสมือนประตูสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งในบทบัญญัติของศาสดาในคัมภีร์อัลกุรอานและบันทึกอัลฮะดีษไม่มีการตีความนี้ แต่จะให้ความสำคัญกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามแล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องของความสะอาด สงบ ความมีเอกภาพและความเท่าเทียมกันของผู้ที่มาประกอบศาสนกิจในมัสยิด ตลอดจนการคำนึงถึงการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะการได้ยินและการมองเห็นผู้นำในการละหมาดและการกล่าวคุตบะฮ์
2. พื้นที่อเนกประสงค์
พื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ ในกรณีที่มัสยิดมีการใช้งานที่หลากหลาย พื้นที่นี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการรองรับการขยายตัวของศาสนพิธีซึ่งเกิดขึ้นภายในพื้นที่สำหรับทำพิธี พื้นที่นี้มักต่อเนื่องกับพื้นที่สำหรับทำพิธี และมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน บางโอกาสอาจปรับใช้เป็นพื้นที่โล่งเพื่อใช้สำหรับละหมาดก็ได้ บางแห่งมีพื้นที่สำหรับใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้สำหรับใช้ในงานของมัสยิดอีกด้วย
3. พื้นที่กิจกรรมเฉพาะ
พื้นที่นี้มักมีลักษณะการใช้งานที่แน่นอน เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องประชุม ที่อาบน้ำละหมาด ร้านค้า รวมถึงส่วนบริการ เช่น ห้องครัว ห้องเก็บของ สำนักงาน ห้องน้ำ
4. พื้นที่ภายนอก
พื้นที่ภายนอกอาคารมักรวมถึงงานภูมิทัศน์ต่างๆ ได้แก่ ลาน ที่จอดรถ สนาม สวน และทางสัญจรลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกิจกรรมในมัสยิดเข้ากับชุมชน

ลักษณะอาคารมัสยิดจักรพงษ์
มัสยิดจักรพงษ์ มีลักษณะเป็นอาคารปูน 2 ชั้น ยอดโดมเป็นหออะซาน มีการประดับช่องหน้าต่างด้วยกระจกสี บริเวณชั้น 1 ภายในประกอบด้วย พื้นที่ละหมาด ซึ่งมีการจัดแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับให้สตรีทำละหมาด พื้นที่สำหรับอาบน้ำละหมาด ภายนอกเป็นลานอเนกประสงค์สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ล้อมรอบด้วยรั้ว บริเวณชั้น 2 เป็นโถงละหมาด มิห์รอบ มิมบัรซึ่งทำจากไม้สักแกะสลักเป็นอายะห์ มีลักษณะเป็นเสาสี่เสาและมีบันไดให้คอเต็บขึ้นบรรยายธรรม [4] บริเวณผนังมีการประดับป้ายพระนามพระอัลลอฮ์ ศาสนทูต และถ้อยคำในคัมภีร์อัลกุรอาน [5] มีการสร้างชั้นลอยเพิ่มเติม ซึ่งสามารถได้ขึ้นไปยังหออะซานได้


หออะซานมัสยิดจักรพงษ์


โถงละหมาดบริเวณชั้น 2 ของมัสยิดจักรพงษ์


บริเวณชั้นลอยของมัสยิดจักรพงษ์ที่สร้างต่อเติม


กรอบประตูทางเข้ามัสยิดจักรพงษ์


มิห์รอบและมิมบัรของมัสยิดจักรพงษ์


การประดับป้ายพระนามพระอัลลอฮ์ ศาสนทูต และถ้อยคำในคัมภีร์อัลกุรอานภายในอาคารมัสยิดจักรพงษ์


ที่อาบน้ำละหมาดบริเวณหน้าทางเข้ามัสยิดจักรพงษ์


บริเวณการทำละหมาดของสตรีในมัสยิดจักรพงษ์

ประวัติการสร้างมัสยิดจักรพงษ์

มัสยิดจักรพงษ์ ถือเป็นมัสยิดที่สำคัญของชุมชนชาวมุสลิมย่านตรอกสุเหร่าที่บางลำพู โดยชาวมุสลิมในย่านนี้ถือเป็นชุมชนมุสลิมที่ความเก่าแก่ชุมชนหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่า เป็นชาวมุสลิมที่อพยพมาจากเมืองปัตตานี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไปทำศึกที่ปาตานี (เมืองปัตตานีในปัจจุบัน) เพื่อจัดการเมืองปาตานีให้เข้าสู่อำนาจของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในปัจจุบันยังมีร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ที่แสดงให้เห็นว่า คนในชุมชนย่านนี้เป็นชาวปาตานี คือชื่อของถนนที่อยู่ด้านหน้ามัสยิดจักรพงษ์ ระหว่างถนนจักรพงษ์และถนนบวรนิเวศ ที่มีชื่อว่า ถนนตานี [6]
ในช่วงแรกยังไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างมัสยิดในชุมชนตรอกสุเหร่า จนกระทั่งในราวปี พ.ศ. 2380 – 2390 ในสมัยอิหม่ามฮัจยีอุมัร อุมารี ได้มอบที่ดินสำหรับสร้างบาแล มีลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใช้ในการประกอบศาสนกิจ [7]
ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2465 อิหม่ามฮัจยีอาลี อุมารี บุตรของฮัจยีอุมัร อุมารี ได้บริจาคที่ดิน เนื้อที่ 1 งาน 14 ตารางวา เพื่อสร้างเป็นมัสยิด มีลักษณะเป็นอาคารไม้ พื้นทำด้วยไม้สักทอง ฝาทำด้วยไม้ธรรมดา หลังคาปูด้วยกระเบื้องดินเผาลักษณะยาวเรียวปลายแหลม ด้านนอกมีชานขนาดใหญ่ ด้านซ้ายและขวามีศาลา หออะซานตั้งอยู่ด้านนอกมัสยิด มีลักษณะเป็นเสากระไดสูง มีกลอง 1 ใบ สำหรับใช้ตีเพื่อบอกเวลาละหมาด นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ ในการสอนภาษาอาหรับ คัมภีร์อัลกุรอานและภาษาไทย สำหรับคนในชุมชนด้วย [8]


แผ่นป้ายแสดงการมอบที่ดินของอิหม่ามอาลี อุมารี

ต่อมามัสยิดได้ทรุดโทรมลง และคนมุสลิมในชุมชนมีจำนวนมากขึ้น ทำให้มัสยิดมีพื้นที่จำกัด จึงได้มีการสร้างมัสยิด ซึ่งเป็นอาคารปูน 2 ชั้นขึ้นแทน โดยให้ชื่อว่า มัสยิดจักรพงษ์ โดยมีอิหม่ามฮัจยีสมหวัง จันตะอุมารี เป็นผู้นำในการสร้าง มีการรวบรวมเงินและแรงกายของคนภายในชุมชนในการสร้างมัสยิด ทำให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลา 2 ปี [9] โดยในช่วงเวลาที่สร้างมัสยิดนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายชาตินิยมวางชูประเด็นการสร้างเอกลักษณ์ของชาติและพยายามเปลี่ยนแปลงชาวสยามให้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสเดียวกัน นโยบายดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันให้ชาวมุสลิมตระหนักถึงความสำคัญของอัตลักษณ์ของตนและหันไปศึกษาหลักคำสอนของศาสนามากขึ้น การสร้างมัสยิด จึงให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ตามหลักคำสอนศาสนามากกว่ารูปแบบที่สื่อถึงชนชาติ โดยมีการนำรูปแบบของอาคารราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยในยุคนั้น มาปรับใช้ในการสร้างมัสยิด ทำให้มัสยิดมีลักษณะเรียบง่าย แต่ยังคงให้ความสำคัญกับคำสอนและความเชื่อ ทำให้รูปแบบมีการสะท้อนอัตลักษณ์ ความมีเอกภาพ และความเท่าเทียมในชุมชน [10] โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่ของมัสยิดถูกใช้เป็นสถานที่ในการหลบภัยของคนในชุมชน และเมื่อสงครามสงบลง จึงได้มีการรวบรวมเงินเพื่อสร้างหออะซานขึ้น [11]


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ อาคารโรงกษาปณ์เดิม ซึ่งเป็นตัวอย่างอาคารราชการในสมัยรัชกาลที่ 5

ในปี พ.ศ. 2517 อิหม่ามสุธรรม ผลทวีได้ปรับปรุงมัสยิดเพิ่มเติม รวมทั้งได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมและสร้างรั้วโดยรอบมัสยิด โดยมีการปรับปรุงพื้นมัสยิดจากเดิมที่เป็นไม้เป็นพื้นหินขัด ต่อเติมชั้นบนของมัสยิด และทาสีมัสยิดใหม่ มีการจัดตั้งโรงเรียนอนุกูลอิสลาม เพื่อดำเนินการเรียนการสอนสำหรับคนในชุมชน [12]


มัสยิดจักรพงษ์ จาก http://www.masjidinfo.com

มัสยิด ถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวมุสลิม จนเรียกได้ว่า หากมีชุมชนชาวมุสลิมที่ไหน ต้องมีการสร้างมัสยิดที่นั้น ย่านบางลำพูเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีชาวมุสลิมอยู่อาศัย คือ ชุมชนตรอกสุเหร่า ชาวมุสลิมในชุมชนนี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากทางภาคใต้ของไทยตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีทักษะในการทำทอง จนทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งช่างทองหลวงที่มีฝีมือแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ทักษะฝีมือช่างที่มีชื่อเสียงทำให้ชุมชนเติบโตและมีบทบาทมากขึ้น จนมีศักยภาพในการสร้างมัสยิดขึ้นเองภายในชุมชน เริ่มต้นจากการสร้างเป็นบาแลไม้ และปรับปรุงพัฒนาเป็นอาคารปูน 2 ชั้นที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงเรียนอนุกูลอิสลามเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของคนในชุมชน ทำให้มัสยิดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชุมชน และด้วยมัสยิดจักรพงษ์ตั้งอยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยว จึงเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาทำละหมาด ด้วยอดีตที่ยาวนาน ความสวยงามของฝีมือช่าง และความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้มัสยิดจักรพงษ์ เป็นสถาปัตยกรรมมุสลิมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์


*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
[1]เสาวนีย์ จิตต์หมวด. หน้าที่ของมัสยิดต่อสังคมมุสลิมในภาคกลาง. (วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527), 35 - 36.
[2]อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), 53 - 64.
[3]เรื่องเดียวกัน, 64 - 65.
[4]กุลวดี เจริญศรี และคณะ. ประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์. (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, มปพ.), 48.
[5] เรื่องเดียวกัน, 11.
[6]องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2553), 94 - 97.
[7]กุลวดี เจริญศรี และคณะ. ประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์. 27.
[8]เรื่องเดียวกัน, 28.
[9]เรื่องเดียวกัน, 29.
[10]อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. 168 - 197.
[11]กุลวดี เจริญศรี และคณะ. ประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์. 29.
[12]เรื่องเดียวกัน, 30.



เอกสารอ้างอิง
กุลวดี เจริญศรี และคณะ. ประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. มปพ..
เสาวนีย์ จิตต์หมวด. หน้าที่ของมัสยิดต่อสังคมมุสลิมในภาคกลาง.วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2527.
องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ: มติชน. 2553.
อัมมาร์ มัสอูดี. วิวัฒนาการสถาปัตยกรรมมัสยิดในกรุงเทพมหานคร (1782 – 2010). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (สหสาขาวิชา) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553.
อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน. 2557.