ป้อมพระสุเมรุ : ปราการสถานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ป้อมพระสุเมรุ : ปราการสถานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
28/9/2561 / 245 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา / เรียบเรียงโดย จิรศักดิ์ อินทะวิชัย

จิรศักดิ์ อินทะวิชัย*


ป้อมพระสุเมรุในยามเย็นใน พ.ศ. ๒๕๖๑

มุมถนนพระอาทิตย์ตัดกับถนนพระสุเมรุ ใกล้กับพิพิธบางลำพู มีโบราณสถานที่สำคัญและเป็นประจักษ์พยานแห่งความมั่นคง การแบ่งพื้นที่ภายในกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ป้อมพระสุเมรุ สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสี่ป้อมปราการที่สร้างพร้อมกับกำแพงพระนคร มีความสำคัญในฐานะแนวปราการป้องกันพระนคร และเป็นหนึ่งในสองป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ ในปัจจุบัน ป้อมพระสุเมรุและพื้นที่โดยรอบยังคงมีบทบาทและความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ความหมายและพัฒนาการของป้อมในไทยป้อม หมายถึง หอรบที่ใช้เป็นที่มั่นถาวรในการต่อสู้และใช้ในการตรวจการณ์ แบ่งได้ 3 ประเภท ตามที่ตั้งและรูปแบบการใช้งาน คือ ป้อมบนกำแพงพระราชวัง ป้อมรักษาเมืองทางบก และป้อมรักษาเมืองทางน้ำ การสร้างป้อมมักจะควบคู่กับการก่อตั้งชุมชนเมืองหรือรัฐต่าง ๆ เช่น ในสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นยุคเริ่มแรกของการสร้างชุมชนเมือง พบว่ามีการสร้างคันดินและคูน้ำ[1] ล้อมรอบ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีการสร้างคันดินปักไม้ซุงเป็นระเนียดเพื่อแบ่งเขตพื้นที่เมือง ต่อมาจึงได้เริ่มสร้างกำแพงและป้อมด้วยอิฐ ในราวสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ภายหลังสงครามสมเด็จพระศรีสุริโยทัย[2] ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์จึงเริ่มปรับปรุงและสร้างป้อมบริเวณเมืองบางกอกอีกครั้ง โดยให้ชาวตะวันตกเป็นผู้ออกแบบสำหรับเป็นป้อมปราการบริเวณปากแม่น้ำบริเวณชุมชนบางกอก[3]


ผังเกาะเมืองธนบุรีและรัตนโกสินทร์มีแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองขุดต่าง ๆ ล้อมรอบ
(ที่มาภาพ : https://sites.google.com/site/learningbykrunana/kar-sthapna-krung-ratnkosinthr)

สร้างป้อม ขุดคลอง ก่อกำแพง :การสร้างบ้านแปงเมืองในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงการสร้างป้อมและกำแพงเมือง สำหรับเป็นเขตแนวพระนครคือ หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยการสร้างบ้านแปงเมืองครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นชุมชน "บางกอก” อยู่แต่เดิม เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสมในด้านความมั่นคงปลอดภัยและระบบเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากการขุดคูเมืองทางด้านทิศเหนือไปยังทิศตะวันออก จากปากคลองบางลำพูไปยังคลองโอ่งอ่าง[4] จากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างกำแพงและป้อม เพื่อแบ่งเขตพื้นที่ภายในและนอกพระนคร อีกทั้งเป็นแนวปราการป้องกันข้าศึกในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์[5]การสร้างป้อมในช่วงต้นได้อาศัยเชลยศึกจากเวียงจันทน์เป็นกำลังหลักในการก่อสร้าง โดยสร้างป้อมพระสุเมรุและป้อมปราการอีก 13 ป้อม ได้แก่ ป้อมมหาฤกษ์ ป้อมมหายักษ์ ป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ ป้อมอิสินธร ป้อมมหาปราบ ป้อมยุคนธร ป้อมมหากาฬ ป้อมหมู่ทะลวง ป้อมเสือทะยาน ป้อมมหาไชย ป้อมจักรเพชร และป้อมผีเสื้อ โดยกำหนดให้ป้อมพระสุเมรุตั้งอยู่ทางทิศเหนือ บริเวณจุดตัดระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองบางลำพู ให้มีระยะห่างกันประมาณ 10 เส้น[6] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้ออิฐเดิม จากเมืองอยุธยาพร้อมทั้งทำอิฐใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างป้อมและกำแพงพระนคร[7] ทั้งนี้เพื่อมุ่งหมายให้การสร้างพระนครแล้วเสร็จโดยเร็ว และเป็นการทำลายซากปรักหักพังของอยุธยาเดิมไม่ให้เป็นที่มั่นของข้าศึกได้อีก


ตำแหน่งที่ตั้งของป้อมทั้ง 14 แห่งบริเวณเขตเกาะเมืองยุครัตนโกสินทร์
(ที่มาภาพ : www.oknation.net/blog/chikuwa)

ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทานแก่เจ้านาย ในบริเวณใกล้เคียงป้อมสำคัญต่าง ๆ ด้วย ซึ่งพื้นที่บริเวณป้อมพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของวังเจ้านายองค์สำคัญ คือ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา เพื่อให้มีหน้าที่รักษาพระนครทางมุมพระนครด้านเหนือ ด้านปากคลองบางลำพูบน
นับตั้งแต่แรกสร้างป้อมพระสุเมรุ มิเคยได้ใช้เป็นปราการสำหรับศึกสงคราม เนื่องจากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีนโยบายการสงครามที่นำทัพไปตั้งรบบริเวณหัวเมืองให้ห่างจากศูนย์กลางของพระนคร ประกอบกับสถานะของรัฐจารีตของไทยเริ่มลดบทบาทลง เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์การขยายอาณานิคมของชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น

ที่มาของชื่อป้อมพระสุเมรุ

การตั้งชื่อป้อมปราการรอบพระนครนั้น สันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับคติจักรวาลวิทยา เรื่องระบบไตรภูมิ กล่าวคือ อิสินธรและยุคนธร เป็นชื่อของทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ส่วนพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นองค์ประกอบสำคัญในจักรวาล ซึ่งสอดคล้องกับระบบการวางผังเมืองในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยสะท้อนผ่านการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ อันมีป้อมปราการ ประตูและกำแพงเปรียบเสมือนขอบกำแพงจักรวาล
ชื่อของป้อมพระสุเมรุยังได้นำมาตั้งเป็นชื่อถนนซึ่งเชื่อมต่อจากถนนพระอาทิตย์สิ้นสุดที่ป้อมมหากาฬ เฉกเช่นเดียวกับถนนพระอาทิตย์ที่เชื่อมระหว่างป้อมพระอาทิตย์และป้อมพระจันทร์ นอกจากนี้ถนนพระสุเมรุยังเป็นถนนสายเดียวของเกาะรัตนโกสินทร์ที่ยังคงเหลือแนวประตูและกำแพงเมืองพระนครอยู่ ซึ่งบูรณะในคราวเดียวกับป้อมพระสุเมรุอีกด้วย

ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม

ป้อมพระสุเมรุ มีลักษณะเป็นป้อมรูปแปดเหลี่ยมด้านเท่า 3 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ยาวด้านละ 3 เมตร สูง 19 เมตร ส่วนฐานรากของป้อมและกำแพงเป็นฐานแผ่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดิน 2 เมตร ความยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ กว้าง 45 เมตร มีบันไดขึ้นป้อมจากด้านในกำแพง จำนวน 3 แห่ง โดยมีเชิงเทินและแผงบังปืนตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้นแรก ตัวป้อมมีขนาดพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา

ฐานชั้นที่ 1 ยาวด้านละ 11.50 เมตร สูง 2.50 เมตร มีบันไดขึ้นจากพื้นดินได้ 2 ทาง เสามุมบันไดเป็นเสาปูน หัวเสาเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ มีทางเดินได้โดยรอบในฐานชั้นนี้ และจากฐานชั้นที่ 1 มีบันไดปูน ขึ้นไปยังฐานชั้นที่ 1 กำแพงรอบฐานชั้นนี้ทำเป็นรูปใบเสมาชนิดเหลี่ยมขนาดใหญ่ แต่ละเสมาเจาะช่องตีนกาหรือกากบาทขนาดเล็กหลายช่อง

ฐานชั้นที่ 2 ยาวด้านละ 4.50 เมตร สูง 10 เมตร กำแพงรอบฐานชั้นนี้ทำเป็นรูปใบเสมาชนิดปลายแหลม ต่ำจากใบเสมาลงมาเจาะเป็นช่องโค้งปลายแหลม (Pointed arch) ด้านละ 4 ช่อง และมีช่องตีนกาขนาดเล็กเรียงสับหว่างกัน 3 แถว ในฐานชั้นนี้มีการก่อผนังออกเป็นห้องรวมจำนวน 38 ห้อง สำหรับเก็บอาวุธและกระสุนดินดำ โดยระหว่างฐานป้อมชั้นที่ 1 และ 2 มีกำแพงใบเสมาชนิดปลายแหลมกั้น

ฐานชั้นที่ 3 เป็นหอรบรูปเจ็ดเหลี่ยม ยาวด้านละ 3 เมตร สูง 19 เมตร หลังคาป้อมเป็นโครงไม้ฉาบปูนเช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนป้อมพระสุเมรุเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2492[8]


แบบแปลนป้อมพระสุเมรุทางด้านทิศใต้
(ที่มาภาพ :สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2542)

การอนุรักษ์และฟื้นฟูป้อมพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุได้ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ซึ่งสันนิษฐานว่าตัวป้อมอาจพังทะลายลงมาราวสมัยรัชกาลที่ 6 - 7 (พ.ศ 2453 - 2471) เหลือแต่เพียงตัวฐานป้อม ซึ่งบริเวณฐานรากป้อมและกำแพงยังพบรอยแตกร้าวของอิฐหลายแห่ง สอดคล้องกับการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาระบบโครงสร้างฐานรากของป้อมพระสุเมรุ โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2542 พบหลักฐานการบูรณะตัวป้อมซ้อนทับกันบนฐานบัวสามชั้น คือ

ฐานบัวชั้นแรก อยู่ลึก 100 เซนติเมตร เป็นรูปบัวคว่ำ ฉาบปูนเรียบ สันนิษฐานว่าเป็นฐานของตัวป้อมเดิมเมื่อแรกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1พบว่าฐานป้อมพระสุเมรุใช้เทคนิค 2 แบบในการก่อสร้าง กล่าวคือ
- แบบที่ 1 การถมอัดด้วยอิฐหัก ลักษณะเดียวกับแนวกำแพงเมืองเก่า ริมคลองคูเมืองเดิม วิธีนี้เริ่มโดยก่อกำแพงขนานกันขึ้นสองด้าน จากนั้นถมอัดเศษอิฐหักลงไป ชั้นล่างใช้อิฐขนาดเล็ก ส่วนชั้นบนใช้อิฐขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้เกิดความแน่นหนาแข็งแรง
- แบบที่ 2 การถมโปร่ง เทคนิคนี้คือการนำตุ่มสามโคกวางคว่ำสลับกันแล้วถมดินอัดลงไปในช่องว่างเพื่อลดน้ำหนักกดทับรอบตัวป้อม[9] ซึ่งจากการคำนวณน้ำหนักเทียบกับการอัดดินเปล่า พบว่าระบบถมโปร่งช่วยลดน้ำหนักไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง

ฐานบัวชั้นที่สอง อยู่ลึก 50 เซนติเมตร เป็นรูปบัวคว่ำฉาบปูนเรียบเช่นเดียวกัน แต่ก่อปิดทับซ้อนบนฐานชั้นแรก สันนิษฐานว่าเป็นงานซ่อมบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 7 ราว พ.ศ. 2471

ฐานบัวชั้นที่สาม อยู่ที่ระดับพื้นดินปกติ เป็นงานที่บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2525 เนื่องจากใน พ.ศ. 2514 เกิดเพลิงไหม้บริเวณโกดังสินค้าและบ้านเรือนใกล้เคียงป้อมพระสุเมรุ ทำให้ส่วนฐานของป้อมร้าว รวมถึงการจราจรที่คับคั่งบริเวณถนนพระสุเมรุทำให้เกิดการสั่นสะเทือน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวป้อมชำรุด ผนังป้อมหลายแห่งแตกร้าว และเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบการระบายน้ำภายในตัวป้อม กรุงเทพมหานครและกรมศิลปากรจึงบูรณะปรับปรุงป้อมพระสุเมรุขึ้นใหม่อีกครั้ง เป็นโครงการดำเนินงานเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ใน พ.ศ. 2525 โดยใช้ข้อมูลและภาพถ่ายเก่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมทั้งพิจารณาโครงสร้างส่วนฐานรากของป้อมในการสร้างหอรบของป้อมพระสุเมรุอีกครั้งดังมีสภาพที่เห็นในปัจจุบัน


แบบจำลองหน้าตัดการวางตุ่มสามโคกคว่ำบริเวณชั้นฐานป้อมพระสุเมรุ
(ที่มาภาพ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2542)


ป้อมพระสุเมรุก่อนการบูรณะ
(ที่มาภาพ :สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


ป้อมพระสุเมรุภายหลังบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2525
(ที่มาภาพ :สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การอนุรักษ์ป้อมพระสุเมรุมีขึ้นอีกครั้งโดยกรมศิลปากร เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542[10] ครั้งนี้ยังได้ปรับปรุงพื้นที่จากแต่เดิมที่เป็นโกดังสินค้าของบริษัทศรีมหาราชาและบ้านเรือนชุมชนที่รุกล้ำโดยรอบ สำหรับสร้างสวนสาธารณะ และพระที่นั่งสันติชัยปราการ เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสทอดพระเนตรกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคในพระราชพิธีดังกล่าวอีกด้วย


ประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาทำกิจกรรมบริเวณพื้นที่โดยรอบป้อมพระสุเมรุ ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะสันติชัยปราการ
(ที่มาภาพ : Heinrich Damm)

ปัจจุบันป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการมิได้เป็นเพียงโบราณสถานและสวนสาธารณะ แต่ยังเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อชุมชนย่านบางลำพู เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การตักบาตร การทำบุญประจำปี การอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถเพื่อให้ชาวชุมชนบางลำพูและประชาชนทั่วไปร่วมสรงน้ำเนื่องในประเพณีสงกรานต์ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ยังใช้พื้นที่แห่งนี้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ป้อมพระสุเมรุยังคงเป็นหมุดหมาย (Landmark)ของชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในย่านบางลำพู


*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
[1] คูน้ำคันดิน หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ประกอบด้วยมูลดินและร่องน้ำเป็นแนวยาวขนานกัน เพื่อการชลประทาน กักเก็บน้ำ การป้องกันข้าศึกศัตรู หรือเพื่อแสดงขอบเขตและอาณาบริเวณ (สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ศัพทานุกรมโบราณคดี, (กรุงเทพฯ:สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550), หน้า 86
[2]อรพินธุ์ การุณจิตต์, รายงานการขุดตรวจป้อมพระสุเมรุ, (กลุ่มงานวิชาการโบราณคดี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร (เอกสารอัดสำเนา), 2542), หน้า 17.
[3] สันนิษฐานว่าคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเขตบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน ป้อมวิไชเยนทร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโรงเรียนราชินีในปัจจุบัน
[4] ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี กำหนดให้เรียกคลองนี้ว่า "คลองรอบกรุง” จากเดิมที่มีชื่อเรียกตามสถานที่ทีคลองไหลผ่าน คือ คลองบางลำพู คลองสะพานหัน คลองวัดเชิงเลน และคลองโอ่งอ่าง
[5] ประกอบด้วยประตูใหญ่ จำนวน 16 ประตู ประตูเล็กหรือช่องกุด จำนวน 47 ประตู
[6] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงตรวจชำระ ทรงพระนิพนธ์อธิบาย, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1, (กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2531), หน้า 43
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 44
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 1
[9] เทคนิคแบบถมโปร่งนี้ต่อมาได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 ในการก่อสร้างภูเขาทอง เมื่อ พ.ศ. 2407 โดยใช้ตุ่มสามโคกวางคว่ำแล้วอัดด้วยดินเป็นชั้น ๆ นอกจากนี้ในการสร้างพระวิหารวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามและวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามก็ใช้เทคนิคเดียวกันนี้ แต่เปลี่ยนไปใช้ไหซองแทนตุ่มสามโคก
[10] กรมศิลปากร, 89 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร, (กรุงเทพฯ:พรีสเกล, 2543), หน้า 25


บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. 89 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร. กรุงเทพฯ:พรีสเกล. 2543.
งานผังรูปแบบฯ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถาน กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๔ ประเภทสะพาน คลอง ป้อม ท่าน้ำสวนสาธารณะ. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์. 2521.
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระ ทรงพระนิพนธ์อธิบาย. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2531.
บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ และทัตพล พูนสุวรรณ. เรื่องกรุงเก่า. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2561.
พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. วัด-วังในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: มติชน. 2557.
สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร. ตำนานงานโยธา (2325 - 2556). กรุงเทพฯ: สำนักการโยธา. 2557.
อรพินธุ์ การุณจิตต์. รายงานการขุดตรวจป้อมพระสุเมรุ. กลุ่มงานวิชาการโบราณคดี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร (เอกสารอัดสำเนา). 2542.
บริษัท ศิวกรการช่าง จำกัด. รายงานการขุดตรวจโบราณคดีอาคาร ป้อมพระสุเมรุ แขวงบางลำพู เขตพระนคร. กรุงเทพฯ: บริษัท ศิวกรการช่าง จำกัด. 2542.
หอสมุดสาขาวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร. ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. เข้าถึงข้อมูลได้จาก http://www.thapra.lib.su.ac.th/ratanagosin/bridge-charoensri34.htm. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561.