ประวัติศาสตร์โรงภาพยนตร์ในย่านบางลำพู
ประวัติศาสตร์โรงภาพยนตร์ในย่านบางลำพู
28/9/2561 / 148 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา / เรียบเรียงโดย เจนจิรา สีหราช

นางสาวเจนจิรา สีหราช*



ภาพที่ 1 การจัดแสดงแบบจำลองโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ ณ พิพิธบางลำพู

ย่านบางลำพู เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ เติบโตควบคู่มาพร้อมกับการก่อร่างสร้างพระนครในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นแหล่งอาศัยของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ มีศาสนสถานสำคัญ วังที่ประทับของเจ้านาย รวมทั้งบ้านเรือนของบรรดาขุนนางข้าราชการตั้งอยู่มากมายในเวลาต่อมาย่านบางลำพูก็ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเจริญทางวิทยาการและความทันสมัยหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการค้า และการคมนาคม มีถนนหลายสายตัดผ่าน ส่งผลให้การเดินทางสัญจรไปมาสะดวกยิ่งขึ้น กิจการตลาด ร้านค้า แหล่งบันเทิง และโรงมหรสพต่าง ๆ ได้ขยายตัวอย่างมาก ย่านบางลำพูจึงกลายเป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในพระนคร เปรียบเสมือนแหล่งรวมตัวและพบปะของผู้คน รวมทั้งเป็นแหล่งรวมมหรสพแหล่งใหญ่ใจกลางพระนคร ไม่ว่าจะเป็นบ้านดนตรีไทย โรงลิเก โรงละคร และโรงภาพยนตร์ ด้วยเหตุดังกล่าว ย่านบางลำพูจึงคึกคักเต็มไปด้วยผู้คนดังคำกล่าวที่ว่า "บางลำพูไม่เคยหลับใหล ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน” กำเนิดภาพยนตร์ในประเทศไทย


ภาพที่ 2 โรงหนังญี่ปุ่น
ที่มา: หลักหนังไทย.2555.192

หากจะเอ่ยถึงเรื่องราวสถานบันเทิง แหล่งรวมตัวของวัยรุ่นในอดีต "โรงภาพยนตร์” ก็เปรียบเสมือนจุดพบปะสังสรรค์ของคนทุกเพศวัย ทุกชนชั้น นับตั้งแต่ปี 2440 ที่มีการฉายภาพยนตร์เรื่องแรกในประเทศไทย ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ[1] หลังจากนั้นก็ปรากฎหลักฐานว่ามีคณะเร่ฉายหนังต่าง ๆ วนเวียนเข้ามาฉายภาพยนตร์ในประเทศไทยเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2448 มีคณะฉายภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น จัดตั้งโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกในประเทศไทย ณ บริเวณเวิ้งหลังวัดชัยชนะสงครามหรือวัดตึก ถนนเจริญกรุง และถูกเรียกขานว่า "โรงหนังญี่ปุ่น”ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมจากชาวไทยเป็นอย่างมาก ภายหลังจากการเข้ามาของธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่จัดตั้งโดยชาวต่างชาติ ทำให้นักธุรกิจชาวไทยเริ่มหันมาสนใจ และทำธุรกิจภาพยนตร์ กันมากขึ้น โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมากมาย เช่น โรงหนังวังเจ้าปรีดา (ปี 2450) โรงภาพยนตร์รัตนปีระกา (ปี 2452) โรงภาพยนตร์พัฒนาการ (ปี 2453) ภาพยนตร์ได้กลายเป็นมหรสพที่คนไทยทุกชนชั้น ต่างให้ความสนใจ
ในระยะแรกภาพยนตร์ที่ฉายส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นภาพยนตร์เงียบ หรือภาพยนตร์ไร้เสียง โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ต้องใช้วิธีการแทรกภาพ ข้อความบรรยายเรื่อง หรือบทเจรจาของตัวแสดง ซึ่งผู้ชมจะต้องอ่านเอง และผู้ชมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศ จึงทำให้เกิดนักพากย์ชื่อดัง ในสมัยนั้น คือ ทิดเขียว หรือนายสิน ศรีบุญเรือง นอกจากนี้โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ยังจัดให้มีมหรสพอื่น ๆ เช่น แตรวง การแสดงมายากล กายกรรม ขับร้อง หุ่นกระบอก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ผู้คนสนใจเข้าชมภาพยนตร์มากขึ้น จนกระทั่งในปี 2471 พ่อค้าชาวสิงคโปร์ได้นำ "ภาพยนตร์พูดได้” เข้ามาจัดฉายที่โรงหนังพัฒนากร สร้างความตื่นเต้นแก่คนไทยที่ได้ชมเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นคนไทยจึงได้ชมภาพยนตร์พูดได้ หรือภาพยนตร์มีเสียงกันอย่างแพร่หลาย
ภาพยนตร์นับเป็นมหรสพสาธารณะ ที่มีราคาค่าเข้าชมไม่แพงมากนัก หากเทียบกับมหรสพชนิดอื่น ๆ กลุ่มคนทุกชนชั้น และทุกเพศวัยสามารถเข้าถึงได้ โดยมีตั๋วเข้าชมตามราคาชั้นที่แตกต่างกัน ธุรกิจภาพยนตร์ไทยพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2482 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะสงคราม และประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง กิจการโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศต่างได้รับผลกระทบ ทำให้โรงภาพยนตร์บางโรงต้องนำหนังเก่ามาหมุนเวียนออกฉาย บางโรงในกรุงเทพฯได้รับผลกระทบจากสงคราม ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ และไฟฟ้าดับอยู่เสมอ ทำให้หลายโรงต้องหยุดกิจการ ภายหลังเมื่อสงครามสงบ ภาพยนตร์กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปี 2500 - 2516 ธุรกิจภาพยนตร์เจริญรุ่งเรือง มีโรงภาพยนตร์จำนวนมากเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ทำให้มีการแข่งขันสูงมาก โรงภาพยนตร์ในสมัยนั้นจึงต้องลงประกาศทางวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เพื่อประชันกับโรงอื่น ๆ ซึ่งแต่ละโรงจะมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ประกาศแจกของสมนาคุณ ของชำร่วย ลดราคาตั๋ว นอกจากนี้ยังมีการตีพิมพ์เรื่องย่อภาพยนตร์ เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ จำหน่ายในราคาถูก พิมพ์ใบปลิว สำหรับแจกจ่ายตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งการติดตั้งโปสเตอร์ แผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ ริมถนน และการจัดรถแห่โฆษณา ไปตามสถานที่ต่าง ๆ
กิจการภาพยนตร์ได้รับความนิยมเรื่อยมาจนในปี 2524 บริษัทฮอลลีวู้ด ไม่นำภาพยนตร์เข้ามาฉายในประเทศไทย พร้อมกับกิจการโทรทัศน์ได้พัฒนาขึ้นหลายสถานี สามารถขยายการแพร่ภาพครอบคลุมทั่วประเทศ จึงส่งผลให้กระแสความนิยมในการดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เริ่มเปลี่ยนไป ต่อมาในปี 2538 เริ่มเกิดธุรกิจศูนย์การค้าแบบมัลติเพล็กซ์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีโรงภาพยนตร์รวมอยู่ด้วย ภายในมีการตกแต่งหรูหรา พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้โรงภาพยนตร์รายย่อยหลายโรงในสมัยนั้นประสบปัญหา และต้องหยุดกิจการไปในที่สุด


ภาพที่ 3 ป้ายโฆษณาบริเวณวงเวียนน้ำพุราชเทวี ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2501


ภาพที่ 4 ป้ายโฆษณาบริเวณป้อมมหากาฬ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2514


ภาพที่ 5 รถแห่โฆษณา ภาพยนตร์ เรื่อง อินทรีทอง


ภาพที่ 6 แตรวงหน้าโรงภาพยนตร์ ป้ายด้านหลังมีข้อความว่า "ภาพยนตร์พิเศษ ค่าดู 15 สตางค์
โรงภาพยนตร์ในย่านบางลำพู

ในยุคที่ธุรกิจภาพยนตร์เฟื่องฟู ย่านบางลำพูถือเป็นย่านหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสความนิยมในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในพระนคร จากหลักฐานที่หลงเหลือและปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ประกอบกับคำบอกเล่าของผู้ที่อาศัยอยู่ในบางลำพูมาเป็นเวลานาน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าบางลำพูในอดีตนั้น คึกคักไม่แพ้กับบางลำพูในปัจจุบัน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บางลำพูคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งกลางวันและกลางคืน คือ โรงมหรสพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับความนิยมเรื่อยมา จนถึงช่วงที่ธุรกิจภาพยนตร์ในกรุงเทพ ฯ เจริญรุ่งเรือง ย่านบางลำพูจึงมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้น ได้แก่ โรงภาพยนตร์ศรีบางลำภู โรงภาพยนตร์ปีนัง และโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ โดยมีรายละเอียดของโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

1. โรงภาพยนตร์ศรีบางลำภู หรืออีกชื่อหนึ่ง "น่ำแช” โรงภาพยนตร์ศรีบางลำภู[2] หรือ อีกชื่อหนึ่ง โรงหนัง "น่ำแช” ตั้งอยู่บริเวณตลาดทุเรียน[3] สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2460 และดำเนินกิจการโดย บริษัท น่ำแช สาเหตุที่ปิดกิจการเพราะเกิดเหตุไฟไหม้


ภาพที่ 7 ประกาศโฆษณาโปรแกรมภาพยนตร์ของบริษัทน่ำแช ในหนังสือพิมพ์รายวัน สยามราษฎร์ พฤศจิกายน 2479
ที่มา: ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2470 – 2499.61.

ภาพที่ 8 ประกาศโฆษณา การฉายภาพยนตร์ เรื่อง บ้านสวนดาล ณ โรงภาพยนตร์ศรีบางลำภู หนังสือพิมพ์รายวัน พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2494
ที่มา: ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2470 – 2499.252.

ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ฉาย ณ โรงภาพยนตร์ศรีบางลำพู[4] ได้แก่
  • ภาพยนตร์ เรื่อง ปางเสือไห้ ฉายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2493
  • ภาพยนตร์ เรื่อง แดนดาวโจร ฉายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2493 สร้างโดย บริษัท สนั่นศิลป์ภาพยนตร์ ภาพยนตร์ เรื่อง มือพิฆาต ฉายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2494 สร้างโดย บริษัท เลิศภาพยนตร์
  • ภาพยนตร์ เรื่อง บึงสามพัน ฉายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2495 สร้างโดย บริษัท มิตรภาพยนตร์
  • ภาพยนตร์ เรื่อง เจ้าชู้แสนกล ฉายเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2495 สร้างโดย บริษัท มิตรภาพยนตร์
2. โรงภาพยนตร์ปีนัง
โรงภาพยนตร์ปีนัง หรือ ปีนังเธียร์เตอร์[5] ตั้งอยู่บริเวณตลาดทุเรียน[6] แต่เดิมดำเนินกิจการโดย บริษัท รูปพยนต์กรุงเทพ นับตั้งแต่ปี 2456[7] มีโรงภาพยนตร์ในเครือกระจายอยู่ทั่วพระนครและธนบุรีหลายโรง มักใช้ชื่อประเทศหรือชื่อเมืองต่าง ๆ มาเป็นชื่อโรงภาพยนตร์ เช่น โรงภาพยนตร์ปีนัง โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ โรงภาพยนตร์ชะวา ต่อมาในปี 2462 มีการรวมตัวของบริษัทภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทรูปพยนต์กรุงเทพ และบริษัทพยนต์พัฒนากร[8] โดยใช้ชื่อว่า สยามภาพยนตร์บริษัท ภายหลังธุรกิจซบเซา จึงเหลือเพียงส่วนของบริษัทพยนต์พัฒนากรเดิม และดำเนินกิจการต่อในนามของ บริษัท ภาพยนตร์พัฒนากร จำกัด



ภาพที่ 9 ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ ฉบับวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2471
ที่มา: ร้อยปีหนังไทย.2545.19.

จากภาพข้างต้นแสดงให้เห็นประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ ฉบับวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ระบุโปรแกรมฉายภาพยนตร์ ของโรงภาพยนตร์ในเครือบริษัท ภาพยนต์พัฒนากร จำกัด ประกอบไปด้วย โรงภาพยนตร์พัฒนากร โรงภาพยนตร์บางลำภู โรงภาพยนตร์สาธร โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ โรงภาพยนตร์ฮ่องกง โรงภาพยนตร์บ้านหม้อ โรงภาพยนตร์นาครเขษม โรงภาพยนตร์นางเลิ้ง และโรงภาพยนตร์ปีนัง โดยระบุโปรแกรมที่ฉาย ณ โรงภาพยนตร์ปีนัง ในคืนวันเสาร์ที่ 5 ถึงวันจันทร์ ที่ 7 พฤษภาคม 2471๑ มีทั้งภาพยนตร์ ข่าว และดนตรีวงนายกุ๊น ระบุราคาค่าตั๋ว 20 สตางค์

3. โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ ชื่อเดิม โรงหนังตงก๊ก หรือ โรงหนังท่าเรือตงก๊ก


ภาพที่ 10 โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ ด้านหน้าติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ประกาศฉาย ภาพยนตร์ เรื่อง "จับกัง กรรมกรเต็มขั้น”


ภาพที่ 11 ภาพโปสเตอร์โฆษณา ภาพยนตร์ เรื่อง "จับกัง กรรมกรเต็มขั้น” ฉายในปี 2523

โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ แต่เดิมมีชื่อว่า ตงก๊ก หรือ โรงหนังท่าเรือตงก๊ก ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพาน นรรัตน์สถาน ซอยสามเสน 2 เป็นโรงภาพยนตร์ของ บริษัท ภาพยนตร์ตงฮั้ว จำกัด ซึ่งมีโรงภาพยนตร์ในเครือ อีกหลายโรง เช่น โรงภาพยนตร์ตงก๊ก ตรอกเจ้าสัวเนียม โรงภาพยนตร์ตงก๊ก บางรัก และโรงภาพยนตร์ตงก๊ก บางลำพู[9] หรือที่เรียกกันในภายหลังว่า "โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ” ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัดจากคำบอกเล่าของคุณโดม สุขวงศ์ กล่าวว่าอาคารมีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดิมเป็นโรงเสก็ตที่หนุ่มสาวสมัยนั้น นิยมไปเล่นกัน แม้จะนุ่งโจงกระเบนภาพยนตร์ที่นำมาฉายมีทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ ซึ่งภาพยนตร์ ที่ฉายในระยะแรกเป็นแบบภาพยนตร์ไร้เสียง ลักษณะเด่นของโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ คือ มีการฉายภาพยนตร์ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยในช่วงกลางวันราคาตั๋วเพียงแค่ 1 สตางค์ เท่านั้น ส่วนราคาตั๋วกลางคืน คนละ 5, 10, 15 สตางค์ แตกต่างกันไปตามที่นั่ง


ภาพที่ 12 ตั๋วชมภาพยนตร์ของโรงหนังท่าเรือตงก๊ก ระบุราคาหน้าตั๋วว่า "ชั้นที่ 3 ราคา 15 สตางค์”
ที่มา: ร้อยปีหนังไทย.2545.84.

ลักษณะของอาคารโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ เป็นอาคารหลังคาโค้ง มี 2 ชั้น เป็นอาคารที่มีรูปร่างแปลกตาและโดดเด่นในสมัยนั้น ภายในอาคาร บริเวณชั้นล่างเป็นที่ตั้งเก้าอี้ไม้ เรียงเป็นแถวยาว นั่งได้แถวละประมาณ 7 - 8 คน ตั้งเรียงกันตั้งแต่หน้าเวที ส่วนชั้นบนทำเป็นเฉลียงอยู่บนหลังคาของห้องฉาย ยื่นออกไปทั้งซ้ายขวา สามารถเติมที่นั่งได้ทั้งสองด้าน ที่นั่งด้านหลังยกสูงเป็นอัฒจันทร์ ด้านนอกโรงหนังมีห้องขายตั๋ว และจุดสำหรับชมภาพตัวอย่างหนัง เรียกกันว่า "หนังแผ่น” โรงภาพยนตร์บุศยพรรณแห่งนี้ เคยเปิดฉายภาพยนตร์ตอนกลางวัน โดยต้องใช้ผ้าดำมาบุโรง บุหน้าต่างให้มืดพอที่จะฉายได้



ภาพที่ 13 ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นบริเวณสะพานนรรัตน์สถาน และคลองบางลำพูด้านซ้ายมือของคลองบางลำพู มีอาคารหลังคาโค้ง สันนิษฐานว่าเป็นอาคารของโรงหนังบุศยพรรณ โดยวิลเลี่ยม ฮันเตอร์ ถ่ายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2489
ที่มา: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ ติดกับคลองบางลำพู ในอดีตเป็นที่ตั้งของตลาดนานา[10] ซึ่งเป็นตลาดขายสินค้านานาชนิดทั้งอาหารและพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีตลาดโต้รุ่งอยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ ทำให้บริเวณนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน บริเวณไม่ไกลจากโรงภาพยนตร์ มีวิกลิเกคณะหอมหวล ซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งตลาดนานา และตลาดทุเรียน เป็นวิกลิเกที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ร้านอาหารต่าง ๆ ในบริเวณนี้ จึงขายสินค้าได้ดีในเวลากลางคืน มีทั้งหาบเร่แผงลอย กลุ่มลูกค้ามักจะเป็นคอลิเก คอหนัง หรือพวกวัยรุ่นที่จับกลุ่มท่องเที่ยวกันยามค่ำคืน ก่อนที่ตลาดแห่งนี้จะซบเซาลงในราว พ.ศ. 2529 และในเวลาต่อมาเจ้าของตลาดนานาได้ปรังปรุงพื้นที่ตลาดให้เป็นโรงแรมนูโว
โรงภาพยนตร์บุศยพรรณเติบโตและรุ่งเรืองในยุคที่ธุรกิจภาพยนตร์ได้รับความนิยม และปิดกิจการลงเนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2524 จึงทิ้งไว้เพียงภาพความทรงจำ ที่เล่าขานตำนานโรงภาพยนตร์ในย่านบางลำพู โดยอาคารได้ถูกรื้อถอนหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้และในปัจจุบันมีการสร้างอาคารขึ้นใหม่ ซึ่งเปิดให้บริการเป็นโรงสนุ๊กเกอร์ และคาราโอเกะ ชื่อว่า "นิวเวิลด์ พอยท์”


ภาพที่ 14 อดีต โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ พ.ศ. 2521


ภาพที่ 15 ปัจจุบัน นิวเวิลด์ พอยท์ พ.ศ. 2561

ภาพบางลำพูในฐานะแหล่งรวบรวมมหรสพใจกลางพระนคร ตามคำบอกเล่าของคุณตาจุ่น ชาวบ้านบางลำพู เกิดเมื่อ พ.ศ. 2490 เล่าให้ฟังว่า "ตอนเด็ก ๆ ตาก็เคยไปดูทั้งโรงหนังตงก๊ก ทั้งโรงหนังศรีบางลำพู เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว สมัยก่อนสนุกมาก เดินไป นั่งเรือ นั่งรถรางไปดูกัน มีเงิน 10 สตางค์ 15 สตางค์ ก็ดูได้แล้ว คนนิยมมาก” ทำให้ชนรุ่นหลังมองเห็นภาพ "ย่านบางลำพู” ที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา มีสีสัน เป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การสงวนรักษาทั้งในแง่ของมิติทางกายภาพ และมิติทางวัฒนธรรม ปัจจุบันย่านบางลำพูเปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร มีนักท่องเที่ยวมากมายเข้ามาเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย พิพิธบางลำพู ในฐานะแหล่งเรียนรู้ของชุมชน จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์ ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ มีคุณค่าทั้งในด้านที่เป็นสื่อบันทึกเหตุการณ์ และทรงคุณค่าในฐานะงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ โดยจัดให้มีแบบจำลองของโรงภาพยนตร์บุศยพรรณ รวมทั้งโรงมหรสพต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่ในย่านบางลำพู เพื่อบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ของชุมชนบางลำพู ชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรม

เชิงอรรถ
*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์
[1] ปรากฏหลักฐานในโฆษณาหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2440 ลงประกาศโฆษณาแจ้งว่า คณะของนายเอส. จี. มาร์คอฟสกี ชาวฝรั่งเศส จะนำภาพยนตร์เข้ามาฉายให้สารณชนได้ดู ในคืนวันที่ 10 – 12 มิถุนายน 2440 ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ มีแตรวงและมายากลให้ชมด้วย
[2]ศรีบางลำภู เป็นชื่อที่ปรากฏทั่วไปตามประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์
[3]ตลาดทุเรียน ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานนรรัตน์สถาน เป็นตลาดเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขายสินค้าจำพวกผลไม้ และผลิตผลทางการเกษตรนานาชนิด ปัจจุบัน คือ ตลาดนรรัตน์สถาน
[4]ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2470-2499.กรุงเทพฯ : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2557.15,17,25,26,34.
[5]สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร.แผนที่ชุมชนกรุงรัตนโกสินทร์,(กรุงเทพฯ: สำนักผังเมือง, 2547),46.
[6]ญาณธร ปุญรัตนรังสี.กิจกรรมพิเศษกับการส่งเสริมรายการวิทยุ,(รายงานโครงการเฉพาะบุคคลคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545), 59.
[7]โดม สุขวงศ์.ประวัติภาพยนตร์ไทย,(กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา), 2533, 6-7.
[8]บริษัท พยนตร์พัฒนากร จำกัด จัดตั้งขึ้นราวปี 2456 และจดทะเบียนเป็นบริษัทภาพยนตร์แห่งแรกของไทย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2459 มีนายเซียว ซองอ๊วน สีบุญเรือง เป็นผู้จัดการ
[9] ญาณธร ปุญรัตนรังษี,เรื่องเดียวกัน, 56.
[10]ตลาดนานา ตั้งอยู่ทางเหนือของสะพานนรรัตน์สถาน ตั้งชื่อตามเจ้าของตลาด คือ คุณเล็ก นานา ปัจจุบันคือโรงแรมนูโว



บรรณานุกรม
ขุนวิจิตมาตรา. หลักหนังไทย. นครปฐม: ลินคอร์น โปรโมชั่น. 2555.
จำเริญลักษณ์ ธนะวังน้อย. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2544.
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต. 100 ปี ภาพยนตร์ไทย. สารคดี ฉบับที่ 150 ปีที่ 13 สิงหาคม. 2540.
โดม สุขวงศ์. ประวัติภาพยนตร์ไทย. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. 2533.
โดม สุขวงศ์ และสวัสดิ์ สุวรรณปักษ์. ร้อยปีหนังไทย.กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊ค. 2545.
ญาณธร ปุญรัตนรังสี. กิจกรรมพิเศษกับการส่งเสริมรายการวิทยุ. รายงานโครงการเฉพาะบุคคลคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2545.
ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2470-2499. กรุงเทพฯ : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). 2557.
สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร,สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อม. แผนที่ชุมชนกรุงรัตนโกสินทร์ Cultural Heritage atlas of Rattanakosin. กรุงเทพฯ: สำนักผังเมือง. 2547.
เอกสารประกอบเสวนาสาธารณะของคนย่านเมืองเก่ากรุงเทพมหานคร เรื่อง "คนย่านเก่า ปัจจุบันและอนาคต รำพึงรำพัน..โดยคนบางลำพู” เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561