แผ่นเสียงตรากระต่าย ตำนานแผ่นเสียงแห่งย่านบางลำพู
แผ่นเสียงตรากระต่าย ตำนานแผ่นเสียงแห่งย่านบางลำพู
21/10/2562 / 262 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา

ลลิตา อัศวสกุลฤชา

แผ่นเสียงเป็นสิ่งหนึ่งที่เคยให้ความเพลิดเพลินใจกับผู้คนในอดีต รวมถึงเป็นร่องรอยที่บอกถึงประวัติศาสตร์การดนตรีได้ ประเทศไทยก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่แผ่นเสียงได้เข้ามาสร้างความรื่นรมย์ให้กับผู้คน และแผ่นเสียงที่ขึ้นชื่อและเป็นตำนานของแผ่นเสียงนั่นก็ คือ แผ่นเสียงตรากระต่าย แห่งห้าง ต. เง๊กชวน ย่านบางลำพู

ต้นกำเนิดแผ่นเสียง

มนุษย์มีความใฝ่ฝันที่จะบันทึกเสียงมาช้านาน จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2316 – 2372 โทมัส ยัง (Thomas Young) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดเสียงและค้นพบว่า เสียงสามารถแปรเปลี่ยนเป็นแรงสั่นสะเทือนและวัดได้ด้วยคลื่น ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้ต่อมา โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นำมาศึกษาและคิดค้นเครื่องเล่นกระบอกเสียงขึ้น จนในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2420 เอดิสันสามารถประดิษฐ์ต้นแบบเครื่องเล่นกระบอกเสียงได้สำเร็จ โดยกระบอกเสียงประดิษฐ์จากกระบอกปูนปลาสเตอร์หุ้มด้วยแผ่นดีบุกที่ถูกตีเป็นแผ่นบาง ๆ ติดกับแกนหมุน โดยใช้ไดอะแฟรม ที่ประดิษฐ์จากแผ่นกระดาษบาง ๆ ตัดเป็นรูปวงกลม ปลายกระดาษติดเข็มเหล็ก และอีกฝั่งติดกรวยกระดาษเพื่อใช้ในการเปล่งเสียง ซึ่งนับเป็นเครื่องอัดเสียงเครื่องแรกของโลก


ต้นแบบเครื่องเล่นกระบอกเสียงของโทมัส อัลวา เอดิสัน
ที่มาภาพ: www.sciencephoto.com/media/998173/view/thomas-alva-edison-s-first-phonograph-1878

ต่อมาเอมิล เบอร์ลินเนอร์ (Emile Berliner) ได้นำแนวคิดของชาร์ล ครอส (Charles Cros) ที่เสนอแนวคิดในการอัดเสียงบนวัสดุแบนราบ โดยในปี พ.ศ. 2431 เบอร์ลินเนอร์ได้ค้นพบวิธีการบันทึกเสียงที่เรียกว่า Engraving Process ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กรดเป็นตัวกัดร่องแผ่นเสียง และประดิษฐ์เครื่องเล่นแผ่นเสียงดังกล่าวขึ้น เรียกว่า Gramophone



เอมิล เบอร์ลินเนอร์ (Emile Berliner) กับเครื่องเล่นแผ่นเสียง Gramophone
ที่มาภาพ: en.wikipedia.org/wiki/Emile_Berliner#/media/File:Emile_Berliner_with_phonograph.jpg

หลังจากประดิษฐ์เครื่องเล่นแผ่นเสียงสำเร็จ เบอร์ลินเนอร์ก็เร่งพัฒนาคุณภาพแผ่นเสียง จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2434 เขาก็สามารถประดิษฐ์แผ่นเสียงครั่งขึ้นมาได้ โดยใช้วัสดุนิกเกิลกับทองแดงตีเป็นแผ่นบางหุ้มด้วยชแลคสูตรผสม (Shellac Compounds) ซึ่งให้เสียงที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น


แผ่นเสียง Gramophone ของ เอมิล เบอร์ลินเนอร์ (Emile Berliner)
ที่มาภาพ: en.wikipedia.org/wiki/Berliner_Gramophone

อย่างไรก็ตามเครื่องเล่นแผ่นเสียง Gramophone ยังไม่รับการพัฒนาระบบลานหมุนฟันเฟือง ทำให้เสียงที่ได้ไม่คมชัด เบอร์ลินเนอร์จึงได้พัฒนาระบบกลไกร่วมกับเอลดริดก์ อาร์. จอห์นสัน (Eldridge R. Johnson) นายช่างซ่อมลาน จนแก้ไขได้สำเร็จ เนื่องจากการผลิตแผ่นเสียงมีกรรมวิธีที่ง่ายและต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ต่อมาราวปี พ.ศ. 2450 ตลาดกระบอกเสียงค่อยเสื่อมความนิยมลง และหมดความนิยมไปในที่สุด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 มีการพัฒนาระบบแผ่นเสียงให้มีมาตรฐานขึ้นโดยมีความเร็วรอบ 78 rpm ทำให้แผ่นเสียงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายจนกระทั่ง ปี พ.ศ.2473 มีการพัฒนาการบันทึกเสียงโดยใช้วัสดุโพลิเมอร์สังเคราะห์ที่เรียกว่า "ไวนิล” ซี่งสามารถบันทึกเสียงในระบบสเตอริโอที่มีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น และเล่นได้ที่ความเร็วต่อรอบต่ำทำให้แผ่นเสียงไวนิลได้รับความนิยม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 มีการบันทึกเสียงด้วยเทปคาสเซต และ ในปี พ.ศ. 2525 มีการบันทึกเสียงด้วยแผ่นซีดี ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและต้นทุนที่น้อยกว่า จึงทำให้แผ่นเสียงเสื่อมความนิยมลง และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการบันทึกเสียงสมัยใหม่

ความเป็นมาของแผ่นเสียงในประเทศไทย

ชาวไทยเริ่มรู้จักคำว่า "เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียง” ตั้งแต่ปี พศ. 2445 โดยมีการใช้กระบอกเสียงชนิดขี้ผึ้งสีน้ำตาลยี่ห้อ Edison มาใช้ในการบันทึกเพลงเห่ เพลงเป๋ และเพลงฉ่อย รวมทั้ง บริษัท Gramophone Co., Ltd. ของเอมิล เบอร์ลินเนอร์ (Emile Berliner) ได้เดินทางมาบันทึกเสียงยังประเทศไทยคณะจากบริษัท Gramophone Co., Ltd. นำโดย เฟรด ไกส์เบิร์ก (Fred Gaisberg) เดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2446 ไกส์เบิร์กได้เข้าเฝ้าขอพระบรมราชานุญาตนำนักร้องประจำราชสำนักไปบันทึกเสียงลงแผ่นจนได้แผ่นเสียงต้นฉบับกว่าร้อยแผ่น แล้วจึงเดินทางกลับประเทศอังกฤษ เพื่อนำแผ่นเสียงต้นฉบับไปผลิตเป็นแผ่นเสียงครั่ง และส่งกลับมาจำหน่ายในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2446 โดยมีห้างเคียมฮั่วเฮงเป็นตัวแทนจำหน่าย


ห้างเคียมฮั่วเฮง
ที่มาภาพ: jarm.com/news/68938

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีบริษัทต่างชาติเข้ามาบันทึกเสียงในประเทศไทย อาทิ บริษัท โอเดียน (ตราตึก) บริษัท พาโลโฟน บริษัท อาร์. ซี. เอ. (ตราสุนัขนั่งฟังแผ่นเสียง) บริษัท ดอยเช แกรมโมโฟน และบริษัท โคลัมเบีย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทของไทยได้เริ่มอัดเสียง ได้แก่ ห้างแผ่นเสียงศรีกรุง และห้าง ต. เง๊กชวน

นาย ต. เง๊กชวนและห้าง ต. เง๊กชวน

ห้าง ต. เง๊กชวน เป็นห้างที่ตั้งอยู่ในย่านบางลำพู จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด สินค้าที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เข็มขัดและสร้อยคอ สร้อยข้อมือทำจากคลีเม้นต์ และแผ่นเสียงตรากระต่าย จัดตั้งขึ้นโดย คุณเตีย เง๊กชวน หรือนายชวน ธันวารชร


นายเตีย เง็กชวน เจ้าของห้าง ต. เง็กชวน
ที่มาภาพ: บทความ นาย ต.เง๊กชวน คนจีนกับดนตรีไทยเดิม

คุณเตีย เง๊กชวน แต่เดิมเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์ในเครือของบริษัท พัฒนากร ได้แก่ นางเลิ้ง บางรัก และปีนัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 จึงได้ย้ายมาเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์บางลำพู และได้เปิดร้าน ต.เง๊กชวนขึ้น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 โดยเช่าตึกแถวหน้าโรงภาพยนตร์บางลำพู สี่แยกบางลำพู ประตูใหม่ หรือบริเวณที่เป็นธนาคารไทยพาณิชย์สาขาบางลำพูในปัจจุบัน เปิดร้านตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาราว 22.00 น. ตามเวลาที่ภาพยนตร์เลิกฉาย เพื่อจำหน่ายของให้กับผู้ที่มาเข้าชมภาพยนตร์ ทั้งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ในบ้าน รวมไปถึงหนังสือชื่อภาพยนตร์ และหนังสือภาพยนตร์ชุด ที่จัดทำขึ้น เนื่องจากในอดีตภาพยนตร์มีลักษณะเป็นภาพยนตร์เงียบ ไม่เสียงบรรยายหรือบทสนทนาเป็นภาษาไทย จึงจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมภาพยนตร์ได้ทราบเรื่องราวของภาพยนตร์ โดยใช้ร้าน ต. เง๊กชวน เป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์หนังสือภาพยนตร์ชุด


ป้ายประชาสัมพันธ์ร้าน ต. เง๊กชวน บริเวณสี่แยกบางลำพูประตูใหม่ พ.ศ. 2468
ที่มาภาพ: บทความ นาย ต. เง๊กชวน คนจีนกับดนตรีไทยเดิม


สำนักงานหนังสือภาพยนตร์ชุด
ที่มาภาพ: บทความ นาย ต. เง๊กชวน แห่งห้าง ต. เง๊กชวน
 

ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาบางลำพู บริเวณที่ตั้งร้าน ต. เง๊กชวนเดิม

ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2473 คุณเตีย เง๊กชวนได้จัดการแสดงละครร้องเรื่อง กนกนารี โดยรายได้จากการแสดงและการจำหน่ายบทละครได้นำไปสมทบทุนสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพุทธยอดฟ้าในปัจจุบัน ด้วยคุณูปการดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามสกุล "ธันวารชร” ซึ่งมีความหมายว่า ธนูงาม ให้กับคุณเตีย เง๊กชวน

นอกจากนี้ คุณเตีย เง๊กชวน ยังมีคุณูปการต่อวงการแผ่นเสียง โดยในปี พ.ศ. 2491 ได้ขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำเพลงพระราชนิพนธ์มาอัดแผ่นเสียงตรากระต่าย โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนำไปพัฒนาโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ด้วยคุณูปการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงได้พระราชทานตราตั้งให้กับห้าง ต. เง๊กชวน ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2499


การพระราชทานตราตั้งให้แก่ห้าง ต. เง็กชวน
ที่มาภาพ: topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2009/10/E8486765/E8486765.html

ต่อมาห้าง ต. เง๊กชวน ได้ย้ายที่ตั้งมายังอาคารที่ 100 – 102 ถนนพระสุเมรุ บางลำพู หรือบริเวณร้านที่จำหน่ายขนมเบื้องแม่ประภาในปัจจุบัน




ป้ายประชาสัมพันธ์สถานที่ตั้งใหม่ของห้าง ต. เง๊กชวน (ซ้าย) และห้าง ต. เง๊กชวน ในปี พ.ศ. 2526 (ขวา)
ที่มาภาพ: บทความ นาย ต .เง๊กชวน คนจีนกับดนตรีไทยเดิม


ห้าง ต. เง๊กชวนในปัจจุบัน

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 คุณเตีย เง๊กชวนได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 81 ด้วยคุณูปการต่าง ๆ ที่อุทิศให้ต่อวงการภาพยนตร์และดนตรีนาฏศิลป์ไทย ทำให้คุณเตีย เง๊กชวน ได้รับสมญานามว่า "เจ้าแห่งหนังสือเรื่องภาพยนตร์” และ "พ่อค้าผู้อุทิศตัวเพื่อการดนตรีนาฏศิลป์ไทยและเพลงพื้นบ้านไทยทุกภาค”

ต. เง๊กชวน กับตำนานแผ่นเสียงตรากระต่าย




แผ่นเสียงและหีบเพลงตรากระต่าย
ที่มาภาพ: พฤติพล ประชุมผล. เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์. กรุงเทพฯ: สมาคมอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย, 2541.

แผ่นเสียงตรากระต่าย ถือเป็นแผ่นเสียงที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการดนตรีไทย มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของวงการดนตรี และนับเป็นตำนานหนึ่งของวงการแผ่นเสียง โดยมีคุณเตีย เง๊กชวน เป็นผู้จัดตั้งขึ้น โดยนำสัญลักษณ์ประจำปีเกิดของท่านมาใช้เป็นตราของแผ่นเสียง

ด้วยความผูกพันที่มีต่อกระบอกเสียงตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อคุณเตีย เง๊กชวนเปิดร้าน ต. เง๊กชวนขึ้น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 ก็ได้นำแผ่นเสียงจากห้างรัตนมาลา และห้างบีกริม มาจำหน่าย ต่อมาจึงมีดำเนินการบันทึกเสียงลงแผ่นเองอีกหลายครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2468 คุณเตีย เง๊กชวนได้ติดต่อกับบริษัทต่างประเทศเข้ามาอัดเสียงเป็นครั้งแรก โดยใช้การอัดเสียงลงกระบอกเสียง โดยให้นายชิต บูรทัต ประพันธ์เพลงเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7 จัดทำเป็นเพลงตับ 3 แผ่นจบ ให้ชื่อว่า "เพลงปลุกไทยปลื้ม”
  • ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2471 ได้นำบทพระราชนิพนธ์ "เพลงเขมรไทรโยค” ของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลงบรรเลงดนตรีล้วน รวมไปถึงบทเพลงจากละครร้องคณะปรีดาลัยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เรื่อง "กรรมแห่งความรัก” ของแม่ระเบียบ มาอัดแผ่นเสียง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ละครร้องกำลังเฟื่องฟู
  • ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2473 เป็นยุคแห่งละครไทยแบบใหม่ จึงมีการอัดเพลง โดยนำทำนองเพลงฝรั่ง มาใช้กับเพลงไทย
  • ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2478 เป็นช่วงที่ละครร้องไทยเฟื่องฟูที่สุด และเป็นช่วงที่เพลงละครร้องที่เดิมเป็นเพลงไทยเดิมมาปรับเป็นเพลงไทยสากล จึงมีการอัดเพลงโดยใช้วงดนตรีแจ๊สในการบรรเลง เป็นจังหวะสากล ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวงการเพลงไทย
  • ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2480 ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงมีการนำเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอัดแผ่นเสียง เพื่อสดุดีพระองค์ท่าน และนับเป็นครั้งแรกที่มีการอัดเพลงพื้นเมือง คือ เพลงซอเมืองเชียงใหม่
  • ครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 2481 เป็นการนำเพลงไทยที่กระทรวงศึกษาใช้เป็นหลักสูตรสำหรับการสอนนักเรียน โดยมีหลวงเสียงเสนาะกรรณ ครูสอนร้องเพลงไทยของกรมศิลปากรเป็นผู้ขับร้อง
  • ครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 2482 นอกจากมีการอัดเสียงเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากลแล้ว ยังได้เริ่มมีการอัดแผ่นเสียงเพลงพื้นเมืองทั้ง 4 ภาคด้วย
  • ครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ. 2483 เป็นยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะของไทย จึงได้มีการนำเพลงละครอิงประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรมาอัดแผ่นเสียง

ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การอัดแผ่นเสียงตรากระต่ายต้องหยุดชะงัก เนื่องจากการอัดแผ่นเสียงต้องมีการส่งแผ่นเสียงต้นฉบับไปยังต่างประเทศเพื่อผลิตแผ่นเสียงจำหน่าย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2491 จึงได้มีการอัดแผ่นเสียงอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้มีการขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการนำเพลงพระราชนิพนธ์มาอัดแผ่นเสียงโดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนำไปพัฒนาโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงได้พระราชทานตราตั้งให้กับห้าง ต. เง๊กชวน ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2499


ป้ายประชาสัมพันธ์แผ่นเสียงตรากระต่ายเมื่อครั้งนำเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาอัดแผ่นเสียง
ที่มาภาพ: www.cokethai.com/forum/viewtopic.php?f=34&t=2217


การจัดแสดงเรื่องราวของห้าง ต. เง๊กชวนภายในพิพิธบางลำพู

แผ่นเสียงตรากระต่ายแห่งห้าง ต. เง๊กชวน ถือเป็นมรดกที่สำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การดนตรีและนาฏศิลป์ไทย สะท้อนให้เห็นว่า ย่านบางลำพู เป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อวงการดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ด้วยความสำคัญดังกล่าว พิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของวิถีชุมชนแห่งย่านบางลำพู จึงนำเรื่องราวของแผ่นเสียงตรากระต่ายมาสืบสานและถ่ายทอดไว้ผ่านการจัดแสดงในพิพิธบางลำพู


เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. คู่มือความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสารสนเทศด้านดนตรี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ทรงสิทธิวรรณ จำกัด, 2552.
ณัฐชัย นวลสุวรรณ์. แผ่นเสียงในยุคดิจิตอล : ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้นิยมเล่นแผ่นเสียงในประเทศไทย. การค้นคว้าอิสระบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558.
ราตรี ธันวารชร. "นาย ต.เง๊กชวนแห่งห้าง ต. เง๊กชวน” ใน วรรณวิทัศน์ ปีที่ 8 (พฤศจิกายน 2551) : 185 – 200.
พฤติพล ประชุมผล. เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์. กรุงเทพฯ: สมาคมอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย, 2541.
พูนพิศ อมาตยกุล. "แผ่นเสียงเพลงไทยในอดีต” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2523) : 8 – 24.
เอก ธันวารชร. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนาย ต. ธันวารชร (บ.พ.). พระนคร: โรงพิมพ์สามมิตร, 2514.