ร้านลานทอง: ร้านค้าใบลานแห่งสุดท้ายในย่านบางลำพู
ร้านลานทอง: ร้านค้าใบลานแห่งสุดท้ายในย่านบางลำพู
22/10/2562 / 473 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา

นางสาวเจนจิรา สีหราช*

การประกอบอาชีพของชุมชนในสังคมไทยสมัยโบราณนั้น เป็นลักษณะของการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อใช้ในการยังชีพ เมื่อมีผลผลิตเหลือใช้จึงนำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันจนเกิดเป็นกิจกรรมทางการค้า การผลิตสินค้าตามความชำนาญของคนแต่ละชุมชน กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและนำมาใช้เป็นชื่อเรียกขานชุมชนนั้น ๆ เรื่อยมา เช่น บ้านลาน เป็นชุมชนผลิตสินค้าที่ทำจากใบลาน บ้านบาตร เป็นชุมชนที่มีฝีมือในการทำบาตรพระ บ้านพานถม เป็นชุมชนช่างฝีมือที่ประกอบอาชีพทำเครื่องถมประเภทขันน้ำและพานรองบางลำพู เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ อันก่อให้เกิดความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ในชุมชนย่านบางลำพู ปรากฏชื่อ "บ้านลาน” ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านในอดีต ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางลำพู ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งค้าขายและทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากใบลาน ตลาดค้าใบลานในพระนครจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นที่นี่ จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "บ้านลาน” ปัจจุบันความนิยมใช้ใบลานลดลงอย่างมาก บ้านลานที่เคยเป็นตลาดค้าขายใบลานที่คึกคักในอดีต จึงค่อยเริ่มสูญหายไป จากเดิมที่เคยเป็นย่านการค้าใบลานที่สำคัญ ปัจจุบันหลงเหลือหลักฐานเพียง "ร้านลานทอง” ร้านค้าใบลานแห่งสุดท้ายในย่านบางลำพู

การค้าใบลานในย่านบางลำพู


ใบลานเป็นวัสดุธรรมชาติที่คนไทยรู้จักนำมาทำประโยชน์ใช้สอยมาช้านานแล้ว เช่น คัมภีร์ใบลาน ตำราเรียนของพระสงฆ์ สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน จนพัฒนาเป็นการค้าที่คนไทยทำมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยกรุงธนบุรี มีชุมชนบ้านลาน ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางลำพู ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งค้าขายใบลานที่สำคัญ เดิมเป็นชุมชนชาวมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีหัวหน้าปกครอง คือ พระราชสงคราม (สวาสดิ์) ขุนนางเชื้อสายมอญ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตผูกขาดแหล่งปลูกต้นลาน ที่บ้านบางตะไน จังหวัดนนทบุรี ตัดใบลาน และนำขนส่งทางเรือมาขึ้นท่าบริเวณบางลำพู เพื่อให้ชาวบ้าน ทำใบลานและผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ชุมชนบ้านลานแห่งนี้มีอีกชื่อหนึ่ง คือ บ้านบางขุนพรหม เนื่องจากหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) บุตรชายของพระราชสงคราม ได้ยกที่ดินบริเวณเหนือปากคลองบางลำพูในเขตชุมชนบ้านลาน สร้างเป็นวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ขุนพรหม (สารท) ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งเสียชีวิตด้วยไข้ป่าระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นนายช่างควบคุมการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และใช้ชื่อว่า "วัดบางขุนพรหม” ตามชื่อของขุนพรหม ด้วยเหตุนี้ชื่อของบ้านลานในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมักพ่วงด้วยย่านบางขุนพรหม "บ้านลาน ย่านบางขุนพรหม” อันเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนี้ตามชื่อวัดบางขุนพรหม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสามพระยา

ในพื้นที่บริเวณบ้านลาน ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีต้นลาน หรือต้นไม้ในตระกูลเดียวกันขึ้นอยู่บริเวณนั้น เนื่องจากต้นลานเป็นไม้ยืนต้น มีขนาดใหญ่ ขึ้นตามป่าหรือที่ราบตามหุบเขา ดังนั้น บริเวณบ้านลาน ย่านบางขุนพรหม ไม่ใช่แหล่งปลูกต้นลาน แต่เป็นเพียงชุมชนที่ผลิตสินค้าจากใบลานเพื่อจำหน่าย โดยนำใบลานมาจากป่าลานที่ต่าง ๆ และขนส่งมาทางเรือ ด้วยเหตุที่ชุมชนบ้านลาน มีที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีบทบาทเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ ประกอบกับในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีลำคลองโครงข่ายที่ผ่ากลางชุมชน ได้แก่ คลองบางขุนพรหม ปากคลองเริ่มต้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านวัดสามพระยา เส้นทางติดต่อสัญจรทางน้ำจึงเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้ขนส่งสินค้า


แผนที่ แสดงให้เห็นคลองบางขุนพรหมในอดีต เป็นคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา

พบหลักฐานการประกอบอาชีพตัดใบลานในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยปรากฏในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ ว่ามีราษฎรทำอาชีพตัดใบลานในป่าใกล้แม่น้ำป่าสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ป่าลานที่หล่มสักมีต้นลานมากกว่าที่อื่น ต้นสูงใหญ่ ใบยาว 6 ศอก ชาวบ้านที่นี่ตัดลานและส่งไปขายยังเมืองอื่น และในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีคหบดี ชื่อขุนเทพ เป็นผู้ชักนำให้ชาวบ้านตัดใบลานที่ป่าลานบ้านมะนาวหวาน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และบรรทุกเรือล่องมาขายในแหล่งค้าลาน จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดอยุธยา คลองบางขุนเทียน คลองบางกรวย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตงอบ และแหล่งค้าลานในตำบลบางขุนพรหม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลานสำหรับนำไปจารหนังสือ โดยผู้ที่ซื้อใบลานในขณะนั้นจะต้องสั่งในปริมาณที่เพียงพอสำหรับค้าขายทั้งปี เพราะชาวบ้านจะตัดใบลานตามความต้องการของตลาด ด้วยเหตุนี้ ผู้ค้าใบลานสมัยนั้นจำเป็นต้องมีทุนสูง ส่วนผู้ที่มีทุนน้อยก็ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ทางราชการจึงเข้ามาช่วยเหลือให้ผู้มีทุนน้อยได้มีโอกาสค้าขายใบลาน โดยกรมสรรพากรได้เข้ามาควบคุมการตัดใบลาน จึงเริ่มมีการจัดเก็บอากรป่าลาน และมีหลักฐานว่ามีการนำใบลานมาเก็บไว้ ณ โรงเก็บลาน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเก็บใบลานในจังหวัดอยุธยา และโรงเก็บใบลานบริเวณคลองบางขุนพรหม โรงเก็บลานทั้งสองแห่งสามารถเก็บใบลานได้จำนวนมาก โดยกรมสรรพากรเป็นผู้ขาย หากซื้อใบลาน 2,000 ใบ จะได้ในราคา ใบละ 2.50 บาท หรือ 3.50 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของใบลาน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจการค้าใบลานก็ได้รับผลกระทบ ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กิจการการค้าใบลานก็ยังไม่ดีขึ้น กรมสรรพากรจึงเลิก ค้าใบลาน และโอนงานมาให้กรมป่าไม้ดูแล ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนค้าใบลานได้ โดยต้องยื่นขออนุญาตแก่ทางราชการ และเสียค่าบำรุงตามพระราชบัญญัติป่าไม้ กิจการการค้าใบลานเริ่มดีขึ้น จนในปี 2484 รัฐบาลโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวัฒนธรรมหลายอย่างเพื่อให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยออกรัฐนิยมฉบับที่ 10 ลงวันที่ 15 มกราคม 2484 ว่าด้วยเรื่องเครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย ซึ่งกำหนดให้ชาวไทยต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามรัฐนิยม กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำแนะนำให้ชายหญิงแต่งกายสุภาพเรียบร้อย และสวมหมวกตามแบบอย่างตะวันตก ด้วยคำขวัญที่ว่า "สวมหมวก ไว้ผมยาว นุ่งถุง สวมเสื้อ สวมถุงเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น” ชาวบ้านโดยทั่วไปจึงนิยมสวมหมวกที่ทำจากใบลาน เนื่องจากเป็นของที่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ส่งผลให้การค้าขายใบลานในยุคนั้นเฟื่องฟู

ต่อมาความนิยมใช้ใบลานลดลงอย่างมาก เนื่องจากป่าลานตามธรรมชาติลดน้อยลง ใบลานหายาก และมีราคาแพง เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ ธุรกิจการค้าใบลานจึงไม่รุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อน ร้านค้าใบลานหลายร้านจึงทยอยปิดตัว จากคำบอกเล่าของนางสาวฐิติชญา วีระชาลี ชาวบ้านดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนวัดสามพระยา เล่าว่า เคยสนทนากับคุณยายท่านหนึ่ง อายุประมาณ 80 ปี คุณยายเคยทำลาน โดยรับลานมาจากที่อื่น นำมาตากและเผา ปัจจุบันไม่มีบ้านใดในชุมชนวัดสามพระยาประกอบอาชีพค้าขายใบลาน มีเพียงร้านลานทองซึ่งเป็นร้านสุดท้ายที่ยังหลงเหลือหลักฐานให้เราได้ศึกษา


ภาพถ่ายสตรีสวมหมวก บริเวณท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองราชบุรี มีป้ายข้อความระบุว่า "คนไทยที่สวมหมวก คือ สุภาพชนที่รักชาติ”


การแต่งกายของสตรีชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ถูกต้องตามรัฐนิยมในสมัยก่อน

ร้านลานทอง: ร้านค้าใบลานแห่งสุดท้ายในย่านบางลำพู

"ร้านลานทอง” เป็นร้านค้าใบลานแห่งสุดท้ายในย่านบางลำพู ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าซอยสามเสน 5 ถนนพายัพ ซึ่งในอดีตเป็นคลองบางขุนพรหม ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว ประวัติของร้านลานทอง มีจุดเริ่มต้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีคหบดีคู่หนึ่ง นามว่า นายสุด และนางแพ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับวัดสามพระยา ประกอบอาชีพค้าขายใบลาน และรู้จักสนิทสนมกับนางฟู ศรีโกเศศ จึงได้ถ่ายทอดความรู้และมอบเครื่องมือในการทำใบลานทั้งหมดให้ นางฟู ศรีโกเศศ จึงเริ่มกิจการค้าขายใบลานนับแต่นั้นมา และนับเป็นเจ้าของกิจการร้านลานทอง รุ่น ที่ 1 เมื่อนางฟู ศรีโกเศศ เสียชีวิต กิจการร้านลานทองจึงตกทอดมายังนางศิริ สิทธิสรเดช ผู้เป็นบุตรสาว และดำเนินกิจการค้าขายใบลานร่วมกับสามี คือ ร้อยเอกถนอม สิทธิสรเดช โดยได้สัมปทานทำป่าลานเอง ป่าลานที่ร้านลานทองทำสัมปทานในขณะนั้น ได้แก่ ป่าลาน ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ป่าลานตำบลท่าริด จังหวัดสระบุรี ป่าลานตำบลมะนาวหวาน จังหวัดสระบุรี ป่าลาน ในจังหวัดขอนแก่น และป่าลานที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ กิจการของร้านลานทองในช่วงแรกเริ่ม คือ การจัดทำคัมภีร์ใบลาน และตำราทางพระพุทธศาสนา



ภาพซ้าย หลวงศรีทิพภักดี เจ้าของกิจการร้านลานทอง รุ่นที่ 1
ภาพขวา นางฟู ศรีโกเศศ เจ้าของกิจการร้านลานทอง รุ่นที่ 1



ภาพซ้าย ร้อยเอกถนอม สิทธิสรเดช เจ้าของกิจการร้านลานทอง รุ่นที่ 2
ภาพขวา นางศิริ สิทธิสรเดช เจ้าของกิจการร้านลานทอง รุ่นที่ 2

ในปี 2473 ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจ การค้าผลิตภัณฑ์ใบลานก็ได้รับผลกระทบ ผู้ที่มีต้นทุนน้อยต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น ร้านลานทองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้นเช่นเดียวกัน แต่ยังคงดำเนินกิจการมาได้เนื่องจากเป็นร้านที่ดำเนินกิจการในครอบครัว ไม่ต้องเช่าตึกหรือสถานที่ ประกอบกับร้อยเอกถนอม ยังมีรายได้จากการรับราชการอีกทางหนึ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจการค้าฝืดเคือง ขุนโสภิตอักษรการ ผู้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ไทย ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจารหนังสือลงใบลาน จากการจารด้วยมือ เป็นการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ โดยต้องใช้หมึกพิมพ์ที่แห้งเร็ว และต้องนำใบลานที่พิมพ์แล้วไปผึ่งให้แห้งสนิท ต่อมาได้มีโรงพิมพ์ แถวเสาชิงช้าประตูผี และถนนตะนาวจัดพิมพ์ใบลานขึ้นเอง จนกระทั่งกรมศาสนาได้จัดตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ด้วยเหตุที่มีโรงพิมพ์หลายโรงพิมพ์จัดพิมพ์หนังสือใบลาน จึงส่งผลให้การค้าใบลาน กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

ในปี 2485 ร้อยเอกถนอมและนางศิริ จึงต้องเสาะหาแหล่งตัดใบลานเพิ่มเติม นอกเหนือจากแหล่งลาน ที่เคยทำอยู่แล้ว การเดินทางในขณะนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินทางด้วยรถไฟ ไปลงที่สถานีแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แล้วจ้างเรือแจวล่องขึ้นไปตามแม่น้ำป่าสัก ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน กว่าจะถึงป่าลานบ้านท่าริด นอกจากการเดินทางที่ยากลำบาก ก็ต้องระวังโจรผู้ร้ายอีกด้วย การขนส่งใบลานออกจากป่าลาน เข้าสู่กรุงเทพฯ ต้องรอเวลาให้ถึงหน้าน้ำ จึงจะสามารถบรรทุกลงเรือกระแซง ล่องมาตามลำน้ำป่าสัก ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มายังแหล่งค้าใบลานในกรุงเทพฯ

ในช่วงที่เส้นทางคมนาคมสะดวกขึ้น ตั้งแต่ ปี 2497 มีการตัดถนนผ่านเข้าไปจนถึงแก่งเสือเต้น บ้านท่าริด และตัดทางรถไฟสายแก่งคอย - บัวใหญ่ ผ่านแก่งเสือเต้นและบ้านมะนาวหวาน ส่งผลให้มีผู้ค้าใบลานเพิ่มขึ้น มีผู้ค้าลานหลายรายแย่งกันประมูลสัมปทานผูกขาดเก็บหาใบลานจากกรมป่าไม้ ในช่วงปีนั้น ร้อยเอกถนอม ต้องเสียค่าประมูลผูกขาดเก็บหาใบลาน ระยะเวลา 3 ปี เป็นเงิน จำนวน 150,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ในช่วงปี 2498 เป็นต้นมา การค้าใบลานก็ประสบปัญหา เนื่องจากมีผู้ลักลอบตัดใบลานในเขตสัมปทาน และนำใบลานไปขายในท้องตลาดในราคาถูก ด้วยเหตุนี้ ร้านลานทองจึงได้รับผลกระทบ เพราะต้องขายในราคาที่สูงกว่าจึงจะได้กำไร ในปี 2499 ร้านลานทองจึงไม่ได้ทำสัมปทานป่าลาน แต่หันมาเป็นผู้รับซื้อจากผู้ที่ได้สัมปทานตัดใบลาน และนำใบลานที่ได้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ส่งต่อให้ลูกค้าต่อไป

กิจการร้านลานทองได้ดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2511 ร้อยเอกถนอม สิทธิสรเดช เสียชีวิต ธุรกิจร้านลานทองจึงถูกส่งต่อให้กับทายาท ได้แก่ นายถนิต สิทธิสรเดช (บุตรชาย) และนางสุรางค์ สิทธิสรเดช (ภรรยานายถนิต) ทายาทรุ่นที่ 3 ในระยะหลังร้านลานทองผลิตสินค้าที่หลากหลาย มีทั้งการทำใบลานสำเร็จรูปเพื่อใช้สำหรับพิมพ์พระไตรปิฎก ก้านลานสำหรับใช้ในงานจักสาน ปลาตะเพียน หมวก งอบ ภาชนะใส่ของ รวมทั้งรับพิมพ์นามบัตร บัตรเชิญในโอกาสต่าง ๆ ปัจจุบันร้านลานทองได้ล้มเลิกกิจการไปแล้ว เนื่องจากป่าลานลดน้อยลง ใบลานหายากกว่าแต่ก่อน และมีราคาสูง ประกอบกับความนิยมใช้ใบลานลดน้อยลง เนื่องจากมีวัสดุอื่นที่ใช้สามารถใช้ทดแทนได้ ร้านลานทองจึงต้องปิดตัวลง หลงเหลือเพียงภาพความทรงจำ และร่องรอยประวัติศาสตร์ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชม




ภาพซ้าย นายถนิต สิทธิสรเดช เจ้าของกิจการร้านลานทอง รุ่นที่ 3
ภาพขวา นางสุรางค์ สิทธิสรเดช เจ้าของกิจการร้านลานทอง รุ่นที่ 3

ภายหลังจากร้านลานทองปิดกิจการ ครอบครัวสิทธิสรเดช (ทายาทร้านลานทอง) ได้มอบอุปกรณ์การทำใบลาน และเครื่องอัดใบลานให้กรมธนารักษ์ นำมาจัดแสดงในพิพิธบางลำพู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาอาชีพการค้าใบลานของชุมชนบ้านลาน ในย่านบางลำพู โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเรียนรู้ได้จากห้องจัดแสดงนิทรรศการชุมชนบางลำพู ซึ่งมีการจัดแสดงแบบจำลองร้านลานทอง อุปกรณ์เครื่องใช้ของร้านลานทอง และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากใบลาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ของชุมชนบางลำพู และสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เรื่องราวของชุมชนบ้านลาน และร้านลานทอง นับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรวมกลุ่มเผื่อผลิตสินค้าตามความชำนาญซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชุมชนที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงการสร้างสมทางวัฒนธรรม อันก่อให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น



ภาพซ้าย ร้านลานทองเมื่อครั้งยังเปิดกิจการ ตั้งอยู่บริเวณปากซอยทางเข้าวัดสามพระยา (ซอยสามเสน) ถนนพายัพ
ภาพขวา ที่ตั้งของร้านลานทองในอดีต ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์ให้เช่า



ภาพการจัดแสดงแบบจำลองร้านทอง และเครื่องอัดใบลาน ณ พิพิธบางลำพู


บรรณานุกรม
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์. 2525.
กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 2516.
รังสรรค์ ธนะพรพรรณ. ภาษีอากร ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจทางสถานะวิชาการ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ม.ป.ป.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: มติชน. 2551.
สุภาพรณ์ จินดามณีโรจน์ และคณะ. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ย่านเก่าในกรุงเทพมหานคร. รายงานการสำรวจ บันทึกข้อมูลพื้นที่ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (240 รายการ). กรุงเทพฯ: เอราวัณการพิมพ์. 2554.
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ร้อยเอกถนอม สิทธิสรเดช ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 22 ธันวาคม 2512.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม . (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562. เข้าถึงได้จากhttp://www.qsbg.org/Database/plantdb/herbarium
ดำรงราชานุภาพ. สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี , (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://vajirayana.org/นิทานโบราณคดี/นิทานที่-10-เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์
ปราณี กล่ำส้ม. ย่านเก่าในกรุงเทพ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 2545.
บทสัมภาษณ์ นางสาวฐิติชญา วีระชาลี. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=78SYp086naA