จัดงานเสวนาเสน่ห์บางลำพู
จัดงานเสวนาเสน่ห์บางลำพู
27/7/2559 / 20 / สร้างโดย Web Admin

การจัดงานเสวนาเสน่ห์บางลำพู ธนารักษ์คู่ชุมชน เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม พ.ศ. 2559 จัดขึ้นเพื่ออธิบายถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนในการสร้างสรรค์และร่วมแรงร่วมใจกันเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งความรู้และเพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการจัดโครงการอาคารพิพิธบางลำพูโดยกรมธนารักษ์ สังกัดกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เผยแพร่พันธกิจ และเจตนารมณ์ของกรมธนารักษ์และบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของชุมชนบางลำพู ภายใต้การร่วมมือกันจากหลายหน่วยงาน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ โดยมี คุณศรีรัตน์ วัฒนล้ำเลิศ ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน, คุณอมรรัตน์ กล่ำพลบ ผู้อำนวยการสำนักบริหารที่ ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร, คุณวชารี เจริญสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ทรัพย์สิน กรมธนารักษ์, คุณอรศรี ศิลปี (ป้านิด) ประธานประชาคมบางลำพู และคุณสุภาพรรณ ช่อแสงชัย ผู้อำนวยการโครงการ ตัวแทนจาก บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการงานพิพิธภัณฑ์


ช่วงแรก คุณอมรรัตน์ได้เล่าถึงการริเริ่มที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณบางลำพูให้เป็นที่รู้จักในเชิงประวัติศาสตร์ชุมชน โดยกล่าวถึงว่าบางลำพูเป็นย่านที่ใครต่างก็รู้จัก ถือว่าเป็นย่านท่องเที่ยวและเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต ดังนั้นจึงอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นตัวแทนในการบอกกล่าวเรื่องราวของบางลำพู โดยก่อนที่จะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นนั้นได้มีการสำรวจลักษณะอาคารทั่วประเทศ ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ศิลปกรรม เพื่อดูความเหมาะสมที่จะจัดตั้ง นอกจากนี้อาคารเรือนไม้ในพิพิธบางลำพูที่เห็นอยู่ ยังเป็นอาคารที่คนรุ่นเก่าสร้างไว้ ซึ่งทางสำนักบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานครก็มีเจตนารมณ์และจุดประสงค์ที่จะรักษาความสวยงามของอาคารไว้ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ทำควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ราชพัสดุ ตามนโยบายของกรมธนารักษ์ด้วย


ในส่วนการเข้ามามีบทบาทของบริษัทไร้ท์แมนช่วงแรกนั้น คุณสุภาพรรณกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเนื้อหาข้อมูลค่อนข้างมีความหลากหลาย ทำให้ดำเนินการจัดการได้ยาก ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องของพิพิธภัณฑ์เรื่องเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ใกล้ป้อมพระสุเมรุ ทางคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์จึงอยากให้นำเรื่องเล่าของป้อมและกำแพงเมืองเข้ามาให้ข้อมูล และอยากจะให้ที่แห่งนี้เป็นแหล่งที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกำแพงเมืองที่ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งในแง่ข้อมูลของกรมธนารักษ์ก็อยากจะให้ไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงศูนย์รวมข้อมูลของกรมธนารักษ์ไว้เช่นกัน และที่ขาดไม่ได้คือ ที่นี่เกิดขึ้นที่บางลำพู ก็จะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนบางลำพูด้วย ซึ่งในการเข้าไปหาข้อมูลในชุมชนครั้งแรกนั้นก็ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว เนื่องจากทางชุมชนเองก็ยังไม่ไว้ใจเท่าไหร่นัก แต่ช่วงหลังมา มีน้องๆ หลายหน่วยงานที่ไม่ใช่กรมธนารักษ์เข้าไปบ้าง แล้วก็ประสบความสำเร็จในการสอบถามข้อมูล ภายหลังมาก็มีน้องๆ ที่ป้านิดได้มอบหมายให้พาเราไปดูหลายๆ ชุมชน พาไปพบหัวหน้าชุมชนต่างๆ เพื่อเล่าข้อมูลอย่างละเอียด ทำให้เรามีเนื้อหาดีๆ ในการจัดเรียงและนำมาเสนอภายในพิพิธบางลำพู


นอกจากนี้แล้วบริษัทไร้ท์แมนยังพยายามที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ด้วยการจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อเป็นการนำคนเข้ามาในพิพิธภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ ซึ่งนิทรรศการแรกที่ทำ คือ นิทรรศการสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยสำคัญตรงที่อาคารตึกนี้สร้างเมื่อปีที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถประสูติพอดี จึงได้จัดทำขึ้นมาเพื่อเทิดพระเกียรติท่าน

ฝ่ายกรมธนารักษ์ ได้เสริมว่าพิพิธภัณฑ์ตรงนี้แตกต่างจากที่อื่นๆ ที่ได้ทำมา เนื่องจากที่ตรงนี้มีทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและภารกิจชุมชน และด้วยความที่อยากให้พิพิธภัณฑ์มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ในเบื้องต้นจึงได้จ้างบริษัทมืออาชีพจากข้างนอกเข้ามาช่วยบริหารจัดการ โดยกรมธนารักษ์ได้มอบหมายให้สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในอนาคตนั้นก็ยังต้องปรับปรุงเรื่อยๆ เพื่อให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในช่วงนี้เป็นช่วงคืนความสุขให้ประชาชน ทางพิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นนโยบายที่มีระยะเวลา แต่ว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการตรงนี้ค่อนข้างสูง ทางกรมธนารักษ์ก็ยังต้องใช้งบประมาณของหลวงอยู่ ในส่วนค่าเข้าชมก็คงไม่มีส่วนขนาดที่จะนำมาใช้บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ได้เท่าไหร่ ณ เวลานี้ ก็ยังต้องวางแผนกันต่อไปในอนาคต


ทางชุมชนบางลำพูได้พยายามสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเก่าแก่ที่มีมานานของบางลำพูให้คงอยู่ด้วยการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและมีกิจกรรมที่จัดตามเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นประเพณีสงกรานต์หรือประเพณีลอยกระทงที่จัดขึ้นแบบไทยแท้ การจัดกิจกรรมต่างๆ เล่านี้ ถูกจัดขึ้นภายใต้กลุ่มเกสรลำพู ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะคอยต่อยอดจากกลุ่มประชาคมบางลำพู โดยป้านิดได้เล่าความเป็นมาของกลุ่มนี้ว่า เป็นเด็กในชุมชนที่ได้ไปขอทุนจากยูนิเซฟมาทำประวัติศาสตร์ชุมชน โดยทางประชาคมได้ให้เด็กเริ่มจากการทำประวัติศาสตร์ชุมชนวัดสามพระยา ให้เขารู้ว่าชุมชนเรามีรากเหง้ายังไง มีของดียังไง แล้วเขาจะรักชุมชนอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเขาโตขึ้นแล้วพาพ่อแม่ปู่ย่าตายายออกไปจากชุมชน พวกที่ออกไปเขาก็ไม่ทราบว่าเขาเอาคนที่เล่าประวัติศาสตร์ได้ออกไปด้วย เราก็เหลือแต่คนมาใหม่ซึ่งไม่รู้เรื่อง ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราอยากชูให้เขาทำขึ้นมา โดยหลังจากนั้นก็มีเด็กในชุมชนมาร่วมกันทำ ทำให้พอโตขึ้นเขาก็ยังรักชุมชน มีความรู้สึกอบอุ่นและภูมิใจร่วมกับชุมชน ดังนั้นถ้าทางประชาคมหายไปหรือไม่มีแล้ว เราก็ยังมีเกสรลำพูต่อยอดไปได้


ซึ่งในภาคบ่ายนอกจากจะมีการจัดให้ผู้ร่วมเสวนาเข้าชมนิทรรศการภายในอาคารพิพิธบางลำพูแล้ว ยังได้พาเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนบางลำพูและบริเวณใกล้เคียงในสถานที่จริง โดยเริ่มตั้งแต่ ชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม มูลนิธิดุริยประณีต บ้านดนตรีไทยวงปี่พาทย์สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นบ้านศิลปินแห่งชาติ คุณครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว แต่ยังมีลูกศิษย์ลูกหาเปิดสอนการขับร้องดนตรีไทย เล่น ดนตรีไทย และรำไทย โดยเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการเทครัวจากปัตตานีมา เรียกว่า ชาวแขกมลายู (แขกปัตตานี) ทำให้เกิดชุมชนอิสลามขึ้นตรงนี้ ในปัจจุบันมีมัสยิดจักรพงษ์เป็นศาสนสถานที่ชาวอิสลามใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาบริเวณย่านบางลำพู

ตรอกเขียนนิวาสไก่แจ้ ในบ้านปักชุดโขน ป้าวรรณา นิ่มประเสริฐ อายุ 60 ปี ปักชุดโขนมาเป็นเวลาหลาย 10 ปี ซึ่งยังคงวิธีการปักแบบเดิมไว้ในปัจจุบัน ที่เห็นปักอยู่ในภาพคือ ผ้าห่มนางสีดา ใช้ดิ้นทอง (จากอินเดีย) ในการปัก

ชุมชนบางลำพูเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี และการร่วมแรงร่วมใจในการอนุรักษ์วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนแบบเดิม ยังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมให้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จากเดิมที่บางลำพูเป็นแหล่งเศรษฐกิจ ตอนนี้สามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งได้จากการร่วมมือกันของภาครัฐและคนในชุมชนที่ให้การสนับสนุนร่วมกันเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่ชุมชนบางลำพูหยัดยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพียงได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเพราะความเข้มแข็งของชุมชนที่ร่วมกันต่อสู้มาตั้งแต่แรกเริ่ม และมีการวางแผนในการจัดการ อีกทั้งยังมองไปถึงอนาคตเพื่อที่จะสานต่อให้ชุมชนบางลำพูยังคงอยู่ต่อไป

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
กิจกรรม ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี
24/4/2561 / 23
โดยกิจกรรมภายในงานมีทั้งการแสดง การสาธิตการทำของดีของ...
กลับมาสนุกกันเช่นเดิม เพิ่มเติมคือจำนวนพิพิธภัณฑ์ ส่วนลดร้านค้า แถมด้านในยังมีสมุดบันทึกกับสติ๊กเกอร์น่ารักๆมาให้แปะเล่นกันด้วย ปีนี้คุ้มมาก!
1/2/2561 / 26
กลับมาสนุกกันเช่นเดิม เพิ่มเติมคือจำนวนพิพิธภัณฑ์ ส่วนลดร้านค้า...
กิจกรรมงาน human of street 2 ตอน greetings for the homeless
19/11/2560 / 17
HUMAN OF STREET #2 ครั้งนี้ จะประกอบด้วย 5 โซนกิจกรรม 1.Homeless Café...