สัญลักษณ์มงคลจีนภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา ศิลปะพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งย่านบางลำพู
สัญลักษณ์มงคลจีนภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา ศิลปะพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งย่านบางลำพู
17/10/2562 / 177 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา

สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี*

ในย่านบางลำพูเป็นพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวความเป็นมาและมีกลุ่มคนหลากชาติหลายภาษาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาอยู่อาศัยกันอย่างต่อเนื่อง มีพระอารามหลวงสำคัญที่เกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดชนะสงคราม วัดสังเวชวิศยาราม นอกจากนี้ยังมีวัดเก่าที่มีความเป็นมายาวนาน ดังเช่น วัดสามพระยา ถือเป็นพระอารามหลวงสำคัญแห่งหนึ่งของย่านบางลำพู มีประวัติการสร้างและบูรณะโดยตระกูลขุนนางในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สิ่งปลูกสร้างภายในวัดมีลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอย่างชัดเจน ในเขตพุทธาวาสของวัดสามพระยามีพระอุโบสถและศาสนสถานอื่น ๆ ในศิลปะแบบพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน พระอุโบสถวัดสามพระยาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน (ภาพ 1) มีลักษณะรูปแบบการสร้างคล้ายกับพระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม (ภาพ 2) และพระอุโบสถวัดหลวงอื่น ๆ ที่มีประวัติการสร้างหรือปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสร้างพระอุโบสถในลักษณะที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นอกจากนี้ยังมีเสาพาไลโดยรอบเพื่อรองรับน้ำหนักชายคาปีกนกแทนคันทวยแบบเดิม เป็นการประยุกต์ดัดแปลงให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งลักษณะดังกล่าว ได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในงานสถาปัตยกรรมวัดสามพระยาวรวิหาร รวมทั้งลวดลายและงานประดับตกแต่งที่อยู่ภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถของวัดแห่งนี้มีความแตกต่างจากลวดลายประดับแบบประเพณีนิยมที่เคยมีมาก่อน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสัญลักษณ์มงคลจีนที่ประดับบนหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา อันแฝงคติความเชื่อมงคลแบบจีนไว้อย่างน่าสนใจและมีลักษณะที่แตกต่างจากลวดลายประดับตกแต่งภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถวัดอื่น ๆ ในย่านบางลำพู


ภาพ 1 พระอุโบสถวัดสามพระยาวรวิหารมีลักษณะศิลปกรรมแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3



ภาพ 2 พระอุโบสถวัดราชโอรสารามศิลปกรรมแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3
ที่มา : เว็บไซต์ http://www.dhammajak.net วัดประจำรัชการที่ 3 : วัดราชโอรสาราม

ความเป็นมาและลักษณะทั่วไปของพระอุโบสถวัดสามพระยา

วัดสามพระยาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดบางขุนพรหม” สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) ขุนนางไทยเชื้อสายมอญ อุทิศถวายที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือนของขุนพรหม (สารท) ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งเสียชีวิตด้วยไข้ป่าในคราวที่ได้ร่วมกับหลวงสุทธิโยธามาตย์ เป็นนายช่างฝีมือควบคุมการสร้างมณฑปพระพุทธบาท ตามพระบรมราชโองการ สร้างเป็นวัดเพื่อเป็นผลบุญและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนพรหม วัดแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า "วัดบางขุนพรหม” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดบางขุนพรหมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงมาก พระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง), พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพอรชุน (ทองห่อ) ซึ่งเป็นหลานของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สารท) จึงพร้อมใจกันปฏิสังขรณ์โดยปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรม และสิ่งปลูกสร้างภายในวัดให้สอดคล้องกับงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมอันมีลักษณะผสมผสานไทย - จีน จนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วน้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ของวัดแห่งนี้ว่า "วัดสามพระยาวรวิหาร” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดสามพระยา”(ภาพ 3)

ภาพ 3 พระอุโบสถวัดสามพระยาในอดีต
ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม. ปกิณกวัฒนธรรม วัดสามพระยา และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ: บริษัทสุวรรณภูมิเฮอริเทจ จำกัด. 2561

ในปี พ.ศ. 2558 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดสามพระยาวรวิหารเป็นโบราณสถาน ในเขตกรุงเทพมหานคร ในพระอุโบสถของวัดสามพระยาเขตพุทธาวาสมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศเหนือ (ภาพ 4) ประกอบด้วย กำแพงและซุ้มประตูทางเข้ากั้นโดยรอบ พระอุโบสถ ซุ้มสีมา พระวิหาร พระเจดีย์รูปแบบต่าง ๆ สำหรับพระอุโบสถอันเป็นสถานที่สำคัญของวัดนั้น มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 คล้ายกับพระอุโบสถของวัดที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น พระอุโบสถวัดโอรสาราม พระอุโบสถวัดราชนัดดาราม พระอุโบสถวัดเทพธิดาราม เป็นต้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาจั่วมุงกระเบื้องเคลือบแบบจีน กรอบหน้าบันประดับเครื่องเคลือบศิลปกรรมแบบจีน ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นช่อดอกพุดตาน ใต้กรอบล่างของหน้าต่างทำเป็นฐานสิงห์ บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ลายพันธุ์พฤกษาแบบจีน มีระเบียงยกพื้นล้อมรอบ มีบันไดใหญ่ด้านหน้า มีบันไดเล็กทางด้านข้างบริเวณมุมทั้งสี่ เชิงราวบันไดตั้งตุ๊กตาหินรูปสิงโตแบบจีน รอบพระอุโบสถมีใบเสมาหรือหลักเสมาปักโดยรอบทั้ง 8 ทิศ

ภาพ 4 เขตพุทธาวาสวัดสามพระยาวรวิหาร หันหน้าไปทางทิศเหนือ

หน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา

หน้าบันเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ลักษณะทรงจั่ว ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า "หน้าบัน” ไว้ว่า คือส่วนที่เรียกว่า "จั่ว” ใช้แก่ปราสาท โบสถ์ วิหาร เป็นต้น สำหรับหน้าบันของอาคารในพุทธศาสนสถาน หมายถึง "องค์ประกอบอาคารที่ใช้อิฐหรือไม้ ก่อหรือปิดทับบริเวณส่วนที่เป็นโพรงของโครงจั่วหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้แดดหรือฝนสาดเข้าไปภายในอาคาร นิยมแกะสลักหรือปั้นปูนประดับตกแต่ง” สำหรับหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยามีลวดลายสัญลักษณ์มงคลจีนประดับตกแต่งพื้นที่ภายในกรอบหน้าบันด้วยถ้วยจานกระเบื้องเบญจรงค์และลายครามเป็นวัสดุหลักเหมือนกัน ทั้งสองด้าน (ภาพ 5)


ภาพ 5 ภาพสัญลักษณ์มงคลจีนภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถ วัดสามพระยาวรวิหาร

ความหมายของสัญลักษณ์มงคลจีนภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา

ลักษณะลวดลายที่ปรากฏภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยาด้านหน้าและด้านหลัง เหมือนกันทั้งสองด้าน ลวดลายที่ปรากฏบนหน้าบันเป็นรูปสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อแบบจีน เป็นรูปแจกันดอกไม้ พานผลไม้ ปลา สิงห์ ดอกไม้ รูปหินมงคล ลายประแจ ประดับด้วยถ้วยจานกระเบื้องเบญจรงค์และกระเบื้องลายคราม ในที่นี้ขออธิบายความหมายของรูปสัญลักษณ์มงคลจีนที่ปรากฏภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา ดังนี้

  • รูปปลา (ภาพ 6) มีความหมายแสดงถึง การได้กำไร ได้ประโยชน์ ชาวจีน จึงนิยมใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์สิริมงคล สำหรับอวยพรให้ผู้ได้รับมีเหลือกินเหลือใช้ได้กำไร นิยมนำไปประดับตกแต่งศาสนสถานของจีน ชาวจีนเชื่อว่า เมื่อปลากระโดดข้ามประตูมังกร จะกลายเป็นมังกรได้ในทันทีทันใด จึงทำให้ชาวจีนนำปลามาใช้เป็นสัญลักษณ์มงคล สัญลักษณ์รูปปลาบนหน้าบันนี้เป็นลักษณะงอตัวกระโดดข้าม ประตูมังกร หมายถึง การได้ตำแหน่งยศศักดิ์อย่างไม่ทันคาดคิด
  • สิงห์คาบดาบ (ภาพ 7) เป็นสัญลักษณ์ที่คนจีนใช้แก้เคล็ดเมื่อเกิดความขัดแย้ง ดาบที่สิงห์หรือเสือคาบอยู่ในปากนี้ มีชื่อว่า ดาบชิกแชเกี่ยม (แปลว่า ดาบดาว ๗ ดวง) ซึ่งดาว ๗ ดวงหมายถึง ชื่อเรียกกลุ่มดาวลูกไก่ หรือดาวกฤติกา ตามคติความเชื่อจีน กลุ่มดาวลูกไก่เกี่ยวข้องกับการแก้เคล็ด
  • รูปแจกันดอกไม้ (ภาพ 8) เป็นคำอวยพร แจกันที่ปักดอกไม้หลายชนิดมีความหมายว่า "คนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน เพื่อเฉลิมฉลองในงานมงคลเหมือนเซียนมาชุมนุมกัน” สำหรับแจกันนั้นหมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุข ในแจกันยังมีกระบี่กับหนังสือ หมายถึง ทั้งฝ่ายบุ๊น (หนังสือ) และฝ่ายบู้ (กระบี่) ที่อยู่ร่วมกัน

ภาพ 6 รูปปลางอตัวกระโดด


ภาพ 7 สิงห์คาบดาบ

ภาพ 8 รูปแจกันดอกไม้

  • ดอกบัว (ภาพ 9) ตามคติความเชื่อจีน ดอกบัวหมายถึงการต่อเนื่องที่ไม่จบสิ้น เพราะดอกบัวนั้นผลิดอกและออกผลในเวลาเดียวกัน จึงมักอวยพรให้มีบุตรเร็ววัน
  • ดอกหงอนไก่ (ภาพ 10) ตามความเชื่อจีนเป็นสัญลักษณ์ของขุนนางหรือข้าราชการ เป็นการอวยพรขอให้มีตำแหน่งทางราชการสูงขึ้น

ภาพ 9 รูปดอกบัว

ภาพ 10 รูปดอกหงอนไก่


  • ดอกเบญจมาศ (ภาพ 11) ตามความเชื่อจีนเป็นดอกไม้แห่งความยั่งยืน หรือดอกไม้อายุยืน เป็นการอวยพรให้อายุยืน
  • ดอกโบตั๋น (ภาพ 12) เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม ความเด่น ความเป็นเลิศ ทั้งทางความงามและความสามารถ กล่าวกันว่าดอกโบตั๋นเป็นเจ้าแห่งมวลดอกไม้ ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่มีความเด่นเป็นสง่าที่สุด นอกจากนั้น ดอกโบตั๋นยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย ความมั่งคั่งอีกด้วย
  • ดอกพุดตาน (ภาพ 13) มีความเชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย มียศศักดิ์

ภาพ 11 รูปดอกเบญจมาศ

ภาพ 12 รูปดอกโบตั๋น

ภาพ 13 รูปดอกพุดตาน


  • พานผลไม้ (ภาพ 14) ภาชนะที่มีผลไม้หลายหลากชนิดรวมอยู่ เช่น ผลท้อ ส้มมือพระพุทธ เป็นต้น หมายถึงการรวมแห่งความอุดมสมบูรณ์
  • ส้มโอมือหรือส้มมือพระพุทธเจ้า (ภาพ 15) เป็นสัญลักษณ์แห่งโชควาสนา ตามคติความเชื่อจีนถือว่าส้มมือเป็นสัญลักษณ์สิริมงคล หมายถึงโชควาสนา
  • ผลท้อ (ภาพ 16) เป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืน ชาวจีนนิยมนำมาใช้ในงานฉลองวันเกิดเพื่อเป็นการอวยพร ให้อายุยืน นอกจากนี้ในสมัยโบราณชาวจีนมีความเชื่อว่า ต้นท้อเป็นต้นไม้วิเศษสามารถขจัดภูติผีปีศาจได้ ดังนั้นจึงนิยมนำไม้ท้อมาทำป้ายแขวนไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล

ภาพ 14 รูปพานผลไม้

ภาพ 15 รูปส้มโอมือหรือส้มมือ

ภาพ 16 รูปผลท้อ

  • หินแห่งอายุยืน (ภาพ 17) ตามคติความเชื่อของชาวจีน หินเป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืน โดยมากแล้ว หินลักษณะเช่นนี้ จะนิยมแต่งประดับในสวนจีนมีลักษณะที่ว่ามีช่องทะลุถึงฟ้า คือมีรูปทรงเป็นหินใหญ่ ทรงตั้งขึ้นสูงแล้วมีรูใหญ่ทะลุชัดเจน ใน ๑ ก้อนหินใหญ่นี้จะมี ๑ รู หรือหลายรูก็ได้
  • ลายประแจจีน (ภาพ 18) เป็นลวดลายแบบจีนชนิดหนึ่งทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมหักมุมไขว้กัน โดยลายประแจจีน เป็นที่มาที่ก่อเกิดเป็นลายมงคลต่าง ๆ ได้แก่ ลายเมฆ (อวยพรให้ก้าวหน้า) ลายสายฟ้า (เหตุความร่ำรวยที่โปรยลงมา) ลายสวัสดิกะ (มากมายไม่มีที่สิ้นสุด) ลายขนมเปียกปูน (ชัยชนะที่ถาวร , เพชรที่เจิดจรัส) ลายลูกคลื่น (ก้าวหน้าสืบเนื่องเรื่อยไป) ลายยู่อี่ (สมปรารถนา) ลายดอกบัว (ความบริสุทธิ์และความดี) ลายใบกล้วย (อุดมสมบูรณ์) และ ลายหลังเต่า (อายุยืน) มีลักษณะตามที่ซินแสชาวจีนมักเรียกแบบสามัญว่า ลายตะขอเกี่ยวทรัพย์ การนำลายประแจจีนมาประดับบนหน้าบันนั้นมีลักษณะเดียวกันกับหน้าบันวิหารพระนั่งวัดราชโอรสารามซึ่งเป็นพระอารามที่เป็นต้นแบบของงานพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3

ภาพ 17 รูปหินแห่งอายุยืน

ภาพ 18 รูปลายประแจจีน


จากลักษณะรูปแบบและลวดลายประดับสัญลักษณ์มงคลบนหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา ได้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลศิลปะจีนที่เข้ามามีบทบาทในงานศิลปกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากในรัชสมัยดังกล่าวมีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าจีนในย่านการค้าของไทยอย่างเฟื่องฟู ประกอบกับผู้สร้างพระอารามซึ่งอยู่ในฐานะชนชั้นปกครองและมีบทบาทในทางการค้าระหว่างประเทศ และเป็นกลุ่มผู้กำหนดกระแสความนิยมงานศิลปกรรมอย่างใหม่ แทนงานศิลปะแบบไทยประเพณีที่มีมาแต่เดิม ดังนั้นการประดับตกแต่งลายสัญลักษณ์มงคลจีนในงานศิลปกรรมไทยที่อธิบายความหมายในข้างต้น เป็นการรับเอาคติความเชื่อจีนมาประดับตกแต่งพุทธศาสนสถาน ให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเป็นการให้คำอวยพรให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง นอกจากนี้พบว่า สัญลักษณ์มงคลจีนที่ประดับภายในกรอบหน้าบันพระอุโบสถวัดสามพระยา มีความสวยงาม ในลักษณะรูปแบบพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 และพบลักษณะดังกล่าวเพียงแห่งเดียวในย่านบางลำพู นับว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของย่านบางลำพู


เอกสารอ้างอิง
กระทรวงวัฒนธรรม. ปกิณกวัฒนธรรม วัดสามพระยา และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ: บริษัทสุวรรณภูมิเฮอริเทจ จำกัด. 2561.
ประกาศกรมศิลปากร ราชกิจจานุเบกษา หน้า 10 เล่ม 135 ตอนพิเศษ 165 ง วันที่ 12 กรกฎาคม 2561.
พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.
พรพรรณ จันทโรนานนท์. ฮก ลก ซิ่ว โชค ลาภ อายุยืน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. 2549.
อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. อิทธิพลศิลปะจีนในงานจิตรกรรมแบบนอกอย่างสมัยรัชกาลที่ 3. วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.(ประวัติศาสตร์ ศิลปะ))--มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕47.
เว็บไซต์ https://www.khaosod.co.th
เว็บไซต์ https://www.bloggang.com