คลองบางลำพู: จากคูพระนคร สู่สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน
คลองบางลำพู: จากคูพระนคร สู่สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน
22/10/2562 / 326 / สร้างโดย ลลิตา อัศวสกุลฤชา

กานต์ภพ ภิญโญ



ถ้ามองลงมาจากแผนที่หรือภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ชุมชนบางลำพู จะเห็นลักษณะองค์ประกอบทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนย่านบางลำพู ที่ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างอันเป็นวังที่ประทับของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ บ้านเรือนของบรรดาขุนนางข้าราชการ สถานที่ราชการ ศาสนสถานสำคัญ และตลาดร้านค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ก็จะเห็นแนวถนน และตรอกซอกซอย ซึ่งบางเส้นเคยเป็นแนวทางเดินมาตั้งแต่สมัยอดีต บางเส้นเกิดจากการถมที่ดินในพื้นที่คลองเก่า และเกิดจากการตัดถนนขึ้นมาใหม่เพื่อความสะดวกในการเดินทางสัญจร ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังปรากฏบนแผนที่อย่างเด่นชัด ตั้งแต่การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงแรกจวบจนถึงปัจจุบัน คือ แนวคูพระนครหรือคลองรอบกรุงในบริเวณ ที่เรียกว่า "คลองบางลำพู” ซึ่งเป็นลักษณะองค์ประกอบทางกายภาพสำคัญที่เคียงคู่กับผู้คนในชุมชนย่านบางลำพูมาเป็นเวลาช้านาน แม้ว่ารายละเอียดลักษณะและบทบาทหน้าที่ของคลองบางลำพูจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของชุมชนเมือง แต่ลำคลองสายนี้ยังคงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนย่านบางลำพู

"คูน้ำ” แนวคิดเรื่องโครงสร้างและองค์ประกอบของเมืองสมัยโบราณ

ก่อนที่จะกล่าวถึงคลองบางลำพู ในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตถึงปัจจุบันนั้น ตลอดวิวัฒนาการของมนุษย์ "น้ำ” เป็นองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ นับตั้งแต่ที่บรรพบุรุษของเราเริ่มผันตัวจากมนุษย์เร่ร่อน และดำรงชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ มาสู่การเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรขึ้น มนุษย์ก็เลือกสรรที่จะตั้งถิ่นฐานใกล้กับแหล่งน้ำ เช่น ริมห้วยหนองคลองบึง หรือชายฝั่งทะเล เพราะได้เรียนรู้แล้วว่าแหล่งน้ำเป็นที่รวมของทรัพยากรอาหาร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการทำเกษตรกรรม และเปรียบเสมือนถนนในการเดินทางติดต่อกับสังคมภายนอก จนกระทั่งเวลาผ่านไป สังคมมนุษย์มีพัฒนาการเป็นบ้านเมือง เกิดการขยายตัวของจำนวนประชากรและพื้นที่ มนุษย์จึงเคลื่อนย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ในบริเวณที่ราบ ลึกเข้าไปในแผ่นดิน หรือบริเวณที่สูงขึ้น แต่น้ำยังคงเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นสำหรับชีวิต มนุษย์จึงต้องคิดค้นวิธีการที่สามารถบริหารจัดการน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ

จากหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ในช่วงแรกมนุษย์ใช้วิธีการขุดร่องน้ำรอบพื้นที่เมือง เรียกว่า "คูน้ำ” ซึ่งอาจเชื่อมต่อมาจากแหล่งน้ำสายสำคัญ แล้วนำมูลดินจากการขุดคูน้ำมาก่อเป็น "คันดิน” ในแนวขนานกัน เพื่อแสดงขอบเขตและตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนหรือเมือง เช่น ชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองโบราณในสมัยทวารวดี ในเขตภาคกลาง และเมืองโบราณในเขตภาคเหนือ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างชุมชนและเมืองโบราณที่มีลักษณะคูน้ำคันดินรูปแบบดังกล่าว จนกระทั่งบทบาทหน้าที่ของคูน้ำคันดินมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการขยายตัวของเมืองโบราณ และความต้องการของคนในสมัยต่อมา จากคันดินและคูน้ำจึงพัฒนาไปสู่ "กำแพงเมือง” ที่ก่อขึ้นด้วยอิฐคู่ขนานไปกับ "คูเมือง” ซึ่งเป็นปราการของเมืองอีกชั้นหนึ่ง เช่น เมืองเชียงใหม่ สุโขทัย นครศรีธรรมราช อยุธยา และธนบุรี จนกระทั่งเป็นต้นเค้าของการสร้างผังเมืองกรุงเทพ หรือกรุงรัตนโกสินทร์ ในเวลาต่อมา โดยมีแนวคิดเรื่องการก่อสร้างคูเมืองตามเหตุผลความจำเป็น ดังนี้
  1. เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ภายในตัวเมือง รวมทั้งเป็นการบริหารจัดการชลประทาน ให้มีปริมาณน้ำที่พอเหมาะ ไม่มากเกินจนเกิดเป็นอุทกภัย และน้อยเกินจนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ
  2. เพื่อความสะดวกในการคมนาคมเชื่อมโยงทางน้ำ และเส้นทางออกสู่ทะเล
  3. เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตบริเวณของเมือง
  4. เพื่อเป็นการป้องกันศัตรูภายนอก


"คลองรอบกรุง” คูเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีจากบริเวณฝั่งกรุงธนบุรี มาตั้งพระบรมมหาราชวังทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใน พ.ศ. 2325 ต่อจากนั้นอีกไม่กี่ปีโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อก่อสร้างพระนคร โดยมีพระราชประสงค์ที่จะขยายขอบเขตพระนครออกไปทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเกณฑ์แรงงานชาวเขมรขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณวัดบางลำพู หรือวัดสังเวชวิศยารามในปัจจุบัน เรื่อยไปทางใต้ถึงบริเวณวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิ-ราชาวาส ขนาดของคลองเมื่อแรกสร้างยาว 85 เส้น 13 วา (ประมาณ 3,426 เมตร) กว้าง 10 วา (ประมาณ 20 เมตร) และมีความลึก 5 ศอก (ประมาณ 2.5 เมตร) พระราชทานชื่อว่า "คลองรอบกรุง” และเกณฑ์แรงงานชาวลาวเวียงจันทน์ก่อสร้างกำแพงพระนคร ป้อม และประตูเมือง เลียบไปกับคลองรอบกรุงสำหรับเป็นปราการรอบพระนคร จนเกิดลักษณะทางกายภาพของเมืองเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีน้ำล้อมรอบ เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นต้นเค้าของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ที่รอบพระนครล้อมด้วยแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคูเมืองตามธรรมชาติ และได้มีการขุดคลองขื่อหน้าเชื่อมกับแม่น้ำ จนทำให้กรุงศรีอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะ โดยมีคูเมืองและกำแพงเมืองเป็นปราการป้องกัน

คลองรอบกรุง เป็นคลองอยู่เคียงคู่กับพระนครมาตั้งแต่แรกสร้าง แต่ด้วยเหตุที่เป็นลำคลองสายยาว จึงทำให้ผู้คนในสมัยนั้นไม่นิยมเรียกชื่อว่าคลองสายนี้ว่า คลองรอบกรุง ตามชื่อพระราชทาน แต่นิยมเรียกชื่อคลองอย่างลำลองตามสถานที่สำคัญที่คลองพาดผ่าน คือ ตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงด้านวัดสังเวชวิศยารามจนถึงบริเวณภูเขาทอง หรือวัดสระเกศ เรียกว่า "คลองบางลำพู” ถัดจากนั้น จนกระทั่งถึงปลายคลองที่วัดจักรวรรดิราชาวาส เรียกตามชื่อเดิมของวัดบพิตรพิมุขว่า "คลองวัดเชิงเลน” จนกระทั่งมีการสร้างสะพานข้ามคลองรอบกรุงขึ้นมาใหม่บริเวณย่านสำเพ็ง - พาหุรัด ชื่อ สะพานหัน ผู้คนในสมัยนั้นจึงเรียกคลองรอบกรุงในบริเวณดังกล่าวว่า "คลองสะพานหัน” นอกจากนี้ก็ยังมีผู้คนเรียกคลองในบริเวณดังกล่าวว่า "คลองโอ่งอ่าง” เนื่องจากในสมัยอดีตคลองรอบกรุงบริเวณด้านหน้าวัดเชิงเลน เป็นที่จอดเรือสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาของชาวจีนและชาวมอญ จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อคลองรอบกรุงในแต่ละบริเวณที่แตกต่างกัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 อันเป็นปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้เปลี่ยนชื่อคลองต่าง ๆ รวมถึงคลองบางลำพู - คลองโอ่งอ่าง ให้เป็นชื่อคลองรอบกรุง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตามการเสนอของคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์


"คลองบางลำพู” จากคลองรอบกรุงสู่เส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญ

แม้ว่าในวัตถุประสงค์ขั้นแรกของการขุดคลองรอบกรุง จะเป็นไปเพื่อการกำหนดขอบเขตบริเวณของพระนคร และเพื่อเป็นปราการป้องกันศัตรูจากภายนอก แต่อีกบทบาทหน้าที่หนึ่งของคลองรอบกรุงที่มีความสำคัญต่อผู้คนภายในพระนคร ก็คือการเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างผู้คนจากสถานที่ทั้งใกล้และไกลให้ได้มามีปฏิสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะคลองรอบกรุงตรงบริเวณที่เรียกว่าคลองบางลำพู เป็นเสมือนเส้นทางคมนาคมสายหลักของผู้คนในย่านชุมชนแห่งนี้ โดยมีลำคลองสาขาอื่นเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมต่อกันภายในย่านชุมชน และระหว่างพื้นที่ใกล้เคียง จนเกิดเป็นโครงข่ายเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญของชุมชนย่านบางลำพู

หากกล่าวถึงแหล่งน้ำที่ก่อให้เกิดโครงข่ายเส้นทางสัญจรทางน้ำภายในชุมชนบางลำพูและระหว่างย่านใกล้เคียง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ตามลักษณะองค์ประกอบของแหล่งน้ำ ที่เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายเส้นทางสัญจรทางน้ำในพื้นที่ย่านชุมชนบางลำพูให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น ดังนี้
  1. คลองขุดหรือคลองสายหลัก ซึ่งมีทั้งคลองเก่าก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และคลองขุดใหม่หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
  2. ลำคลองหรือลำน้ำรอง ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับคลองสายหลัก สำหรับเป็นเส้นทางสัญจรสาขาย่อย ทั้งที่เป็นคลองขุดใหม่เพื่อเชื่อมกับคลองสายหลักหรือแม่น้ำโดยเฉพาะ และคลองที่พัฒนามาจากลำประโดงที่อยู่ระหว่างขนัดสวน
  3. คูน้ำ ซึ่งเป็นเส้นอาณาเขตล้อมรอบวัด หรือสถานที่สำคัญ
ก่อนที่จะมีคลองบางลำพู เป็นแหล่งน้ำสายสำคัญของพื้นที่ย่านนั้น ลักษณะองค์ประกอบทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนย่านบางลำพูในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในเมืองบางกอก คือ มีชุมชนขนาดไม่ใหญ่มากอยู่รายรอบพื้นที่วัด ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของชุมชน ได้แก่ วัดสังเวชวิศยามราม วัดสามพระยา และวัดชนะสงคราม เป็นวัดที่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาว่าสร้างก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้นเป็นพื้นที่สวนหรือพื้นที่เกษตรกรรม แหล่งน้ำที่เป็นเส้นทางการสัญจรของผู้คนในสมัยนั้นก็จะเป็นเพียงลำประโดงระหว่างขนัดสวน จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้มีการขุดคลองลัดบางกอกบริเวณปากคลองบางกอกน้อย - คลองบางกองใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อร่นระยะทางในการคมนาคม จึงเกิดเป็นเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่านพื้นที่ชุมชนบางลำพูทางด้านตะวันตกอย่างเช่นในปัจจุบัน

จนกระทั่งกรุงธนบุรีก่อตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2311 ได้ย้ายราชธานีมาอยู่บริเวณเมืองบางกอก ได้มีการขุดคูรอบพระนครขึ้น โดยทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้มีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่กำแพงเก่าท้ายป้อมวิชัยประสิทธิ์ หรือบริเวณปากคลองตลาด ขึ้นไปทางเหนือถึงศาลเทพารักษ์ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน โดยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เรียกชื่อคลองบริเวณที่ผ่านพื้นที่ย่านบางลำพูทางด้านใต้ว่า "คลองโรงไหม” ตามชื่อโรงไหมหลวง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญริมคลองรอบกรุง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็นคลองคูเมืองเดิมตลอดทั้งสาย ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยลงมาถึงสมัยธนุบรี องค์ประกอบทางกายภาพโดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมทางน้ำของผู้คนในพื้นที่ย่านบางลำพูและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จนเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ พื้นที่ย่านบางลำพูกลายเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองในสมัยนั้น ทำให้พื้นที่ย่านบางลำพูเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะองค์ประกอบทางกายภาพครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างกำแพงพระนคร ซึ่งเปรียบเสมือนการแบ่งเขตพื้นที่ภายในและภายนอกพระนคร และการขุดคลองรอบกรุง หรือคลองบางลำพู - คลองโอ่งอ่าง ทำให้พื้นที่ย่านบางลำพูมีคลองสายสำคัญผ่ากลางพื้นที่ย่าน และกลายเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญของคนทั้งพระนครในสมัยนั้น จนเกิดเป็นโครงข่ายคลองบางลำพู ที่เชื่อมต่อกับคลองสายเดียวกันคือคลองโอ่งอ่าง และคลองสาขาสายสำคัญ ได้แก่ คลองมหานาค เป็นเส้นทางสัญจรกับชุมชนภายนอก นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ชุมชนย่านบางลำพูยังมีโครงข่ายคลองบางขุนพรหม ที่มีตำแหน่งค่อนข้างขนานกับคลองบางลำพูทางด้านทิศเหนือ โดยปากคลองเริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านวัดสามพระยา บางส่วนเรียกว่าคลองพายัพ ต่อเนื่องไปจนถึงวัดตรีทศเทพ เรียกว่า คลองบ้านหล่อ ซึ่งพาดผ่านบริเวณชุมชนบ้านพานถม ทั้งนี้ ตลอดลำคลองบางลำพู ยังมีลำน้ำรองซึ่งพัฒนามาจากลำประโดง และคูน้ำรอบสถานที่สำคัญ ได้แก่ คูน้ำรอบวัดชนะสงคราม (คลองวัดตองปุ) คูน้ำรอบวัดบวรนิเวศ คูน้ำรอบวัดสามพระยา คูน้ำรอบวัดใหม่อมตรส และคูน้ำรอบวัดตรีทศเทพ (คลองวัดตรี) เป็นเสมือนตรอกซอกซอยที่เชื่อมต่อระหว่างคลองบางลำพู กับคลองสายหลัก ได้แก่ คลองโรงไหม (คลองคูเมืองเดิม) และคลองบางขุนพรหม จนเกิดเป็นโครงข่ายสัญจรทางน้ำภายในย่านชุมชนบางลำพู และชุมชนใกล้เคียงที่มีความซับซ้อน





บทบาทคลองบางลำพูที่เปลี่ยนแปลงไปถึงสมัยปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่มีการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ผู้คนในชุมชนย่านบางลำพูและพื้นที่ใกล้เคียง ได้ใช้โครงข่ายคลองบางลำพูเป็นเส้นทางสัญจรหลักในการติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน จนกระทั่งวัฒนธรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจากตะวันตกขยายมาจนถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครในฐานะศูนย์กลางการปกครองของประเทศ จึงได้ริเริ่มปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้ทัดเทียมอย่างนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างถนน ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้คนเริ่มยึดเส้นทางสัญจรทางบกอย่างถนน มาเป็นเส้นทางคมนาคมหลักแทนเส้นทางสัญจรทางน้ำ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว ยังมีผลทำให้องค์ประกอบทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนย่านบางลำพูเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกับพื้นที่ย่านอื่น ๆในกรุงเทพมหานคร คลองและลำน้ำรองบางสายมีรูปแบบลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากถูกลดบทบาทหน้าที่ลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงระบบโครงข่ายลำคลอง ซึ่งทำให้คลองแคบลงและตื้นเขินขึ้น นอกจากนี้คลองและลำน้ำรองหลายสายถูกถมดินเปลี่ยนไปเป็นถนน ตรอกซอกซอย หรือถมพื้นที่คลองเดิมให้เป็นพื้นที่ดินต่อเนื่องกัน เพื่อสอดรับกับลักษณะวิถีในการเดินทางและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อย่างเช่นคลองวัดตองปุ ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นซอยและถนนรามบุตรี และคลองพายัพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคลองบางขุนพรหม ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นซอยสามเสน 5 อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

สำหรับคลองบางลำพู จะมีลักษะเช่นเดียวกับคลองโรงไหม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคลองคูเมืองเดิม คือรูปแบบเส้นทางน้ำยังคงเดิม แต่มีลักษณะแคบลงและตื้นเขินขึ้น นอกจากนี้ ลำน้ำรองหรือคลองสาขาที่เคยเชื่อมโยงกันเป็นระบบโครงข่ายอันซับซ้อนเช่นในอดีต ได้ถูกถมกลายเป็นถนนและตรอกซอย ประกอบกับปากคลองบางลำพูที่เคยเป็นทางเข้า - ออกเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ถูกปิดกั้นด้วยประตูระบายน้ำ จนทำให้โครงข่ายเส้นทางสัญจรทางน้ำถูกตัดขาดลง แต่ถึงแม้ว่าบทบาทการเป็นเส้นทางสัญจรหลักของคลองบางลำพูจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้ภาพของเรือสินค้าและเรือเดินทางที่พายขายของกันขวักไขว่ในคลองบางลำพูจะเลือนหายไป เหลือเพียงลำคลองสายหนึ่ง ซึ่งอยู่ด้านหลังบ้านและอาคารพาณิชย์ และเป็นเพียงเส้นทางสัญจรทางน้ำเล็ก ๆ ภายในชุมชน แต่คลองบางลำพูก็ไม่ได้ถูกลดความสำคัญลง หากแต่เปลี่ยนบทบาทจากคูพระนคร และโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ สู่การเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อชาวชุมชนบางลำพู และผู้คนในกรุงเทพมหานครในหลากหลายมิติ ดังนี้
  1. คุณค่าเชิงสัญลักษณ์ (symbolic value) ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของคุณค่าคลองบางลำพูในฐานะที่เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมโยงของคนในอดีตและคนปัจจุบัน และเป็นส่วนสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนชุมชน ให้เกิดความร่วมมือและความภาคภูมิใจที่ชุมชนได้เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ จนทำให้คลองบางลำพูกลายเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของชุมชนในทุกด้าน ทั้งทางสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และทางสังคมวัฒนธรรม
  2. คุณค่าเชิงวิชาการ หรือการศึกษา (informative value) คลองบางลำพูถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลขั้นปฐมภูมิสำหรับการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ นอกจากนี้ คลองบางลำพูยังเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ผู้สนใจทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมของชุมชนบางลำพู และกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านโครงการและรูปแบบการจัดการความรู้ในยุคปัจจุบัน เช่น การจัดแสดงข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของหน่วยงานหรือบริษัทเอกชน ตลอดจนการจัดบรรยายเสวนาที่ทำให้ข้อมูลเชิงวิชาการของคลองบางลำพูได้รับการเผยแพร่และกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง
  3. คุณค่าเชิงสิ่งแวดล้อม (environmental value) แม้ว่าคลองบางลำพูจะเป็นคลองขุดจากฝีมือของมนุษย์ แต่ด้วยคุณลักษณะของคลอง ทำให้ส่งผลต่อกายภาพและระบบนิเวศของชุมชนโดยตรง ดังจะเห็นได้จากโครงการของชุมชน หรือหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ได้หันมาให้ความสำคัญต่อคลองบางลำพูในฐานะของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมากขึ้น เช่น โครงการประเภทฟื้นฟูหรือปรับปรุงภูมิทัศน์ และโครงการประเภทเก็บขยะและการบำบัดน้ำเสียในคลองบางลำพูภาพที่ 8 (ด้านขวา) ห้องนิทรรศการเบาะแสจากริมคลองที่จัดแสดงในพิพิธบางลำพู
  4. คุณค่าเชิงเศรษฐกิจ (economic value) ที่ได้นำความงดงามหรือสุนทรียะของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ มาผนวกรวมกับคุณค่าเชิงการศึกษา จนเกิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของคลองบางลำพู นอกจากนี้ยังอาจส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวสถานที่อื่นในชุมชนย่านบางลำพูด้วย ซึ่งถือเป็นผลพวงทางอ้อมจากคุณค่าเชิงเศรษฐกิจของคลองบางลำพู

เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนย่านบางลำพู มีรายละเอียดและการเปลี่ยนแปลงเคียงคู่ไปกับประวัติศาสตร์ในภาพรวมของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่การเป็นชุมชนภายในเขตพระนครสมัยแรกสร้างกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งพัฒนาเป็นย่านการค้าที่รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และปัจจุบันยังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ด้วย ดังนั้น ประวัติความเป็นมาของย่านชุมชนบางลำพู จึงมีหลากหลายด้านที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อย่างเช่นจุดสำคัญเล็ก ๆ อย่างคลองบางลำพู ที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงวิถีชีวิตก่อนจะเปลี่ยนแปลงจากการคมนาคมจากทางน้ำขึ้นมาสู่ทางบก อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพของพื้นที่ย่านบางลำพู โดยเฉพาะในด้านบทบาทหน้าที่ของคลองบางลำพูที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นปราการพระนคร และโครงข่ายสัญจรทางน้ำ สู่การเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจถึงสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในมิติอื่นของผู้คนในชุมชนย่านบางลำพูทั้งในอดีตและปัจจุบัน


เอกสารอ้างอิง

หนังสือ บทความ
Lewis Henry Morgan. Ancient Society. Arizona: University of Arizona, 1985.
โครงการสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. รูปแบบคูน้ำคันดิน รอบชุมชนโบราณ (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 เข้าถึงได้จาก http://saranukromthai.or.th /sub/ book/bookphp?book=15&chap=6&page=t15-6-infodetail04.html.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา (อธิบาย). จดหมายเหตุ ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2464.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ไทยรบพม่า (ฉบับสมบูรณ์). พระนคร: ศิลปะบรรณาคาร, 2515.
ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2531.
เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร. "ลักษณะและการเปลี่ยนแปลงสัณฐานของเครือข่ายลำคลองในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2450 - 2550,” วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 59, (2553): 70.
ธนิก เลิศชาญฤทธิ์. การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2559.
บ้าวท์ซ, โจคิม เค. ฉายาลักษณ์สยาม: ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ. 2403 - 2453. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2559.
ปิยนาถ บุนนาค. คลองในกรุงเทพฯ: ความเป็นมาการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325 - 2525). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.
ผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา. เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย: การศึกษาตำแหน่งที่ตั้ง และภูมิศาสตร์สัมพันธ์. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.
พระราชพงศาวดาร. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. พระนคร: คลังวิทยา, 2516.
ส.พลายน้อย. ชีวิตตามคลอง. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, 2560.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. รายงานทะเบียนวัด จังหวัดกรุงเทพมหานคร, 2560.
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. "มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเปลี่ยนชื่อคลองหลอดและคลองบางลำพู - คลองโอ่งอ่าง เพื่อให้สอดคล้อง กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์.” 7 ธันวาคม 2525.

แผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ
https://earth.google.com, 2017.
Edmond Francois Valentin, 1724.
James Low, A Geological Map of Pasts of Klong, Wat, of Bangkok in the SIAM, 1835.
กรมแผนที่, แผนที่บริเวณกรุงเทพฯ ร.ศ. 126, 2450.