การขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. 2556 สันนิษฐานว่ามีแนวกำแพงเมืองต่อกับป้อมพระสุเมรุ ป้อมปราการริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ข้างอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาเก่า เมื่อกรมธนารักษ์มีโครงการปรับปรุงที่ราชพัสดุบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์คุรุสภา ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ "พิพิธบางลำพู” กรมธนารักษ์ได้ให้ความสำคัญ กับการอนุรักษ์และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวกำแพงเมือง โบราณสถานท้องถิ่นบางลำพู ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความสัมพันธ์กับชุมชนมาช้านาน จนเป็นที่มาของนิทรรศการ "ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”
![]() |
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อกำหนดขอบเขตของพระนคร ป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรูภายนอก เนื่องจากสยามยังต้องระวังจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว เขมร ป้อมและกำแพงจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงของพระนคร ในคราวสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์ชาวลาว เวียงจันทร์ จำนวน 5,000 คนมาช่วยสร้าง โดยให้ขนอิฐบางส่วนมากจากเศษซากกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยามาเป็นวัสดุ ในก่อสร้าง เนื่องจากยังมีศึกสงคราม การก่อสร้างเป็นไปด้วยความเร่งรีบ ไม่อาจรอทำวัสดุใหม่ได้ทั้งหมด กระนั้นก็ตาม การก่อสร้างกำแพงซึ่งมีขนาดใหญ่กินระยะเวลายาวนาน ก่อให้ชาวลาวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามไม่ได้อพยพกลับ และกลายเป็นพลเมืองสยามไปโดยปริยาย |